ตึกเก่าเมืองแพร่ : รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

อาคารอายุกว่าร้อยปีที่ .แพร่ที่เป็นเรื่องอยู่ตอนนี้ เป็นอาคารอะไร มีความเป็นมาอย่างไร สำคัญยังไง และใครทำลาย

มิสเตอร์ฮอต

ตอบ มิสเตอร์ฮอต

กรณีสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้ป่าไม้ สวนรุกขชาติเชตวัน บริเวณชุมชนเชตวัน ริมแม่น้ำยม .เมือง .แพร่ ซึ่งนับถึงปัจจุบันอาคารดังกล่าวมีอายุได้ 131 ปี กรมอุทยานฯจ้างบริษัทรับเหมาแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่เข้าดำเนินการในวงเงิน 4,560,000 บาท โดยผู้รับเหมารื้อและทุบอาคารดังกล่าวทิ้งทั้งหมด ท่ามกลางเสียงเรียกร้องถึงความรับผิดชอบ จนเกิดเป็นข่าวใหญ่ชาวแพร่ทวงคืน บ้านเขียว131 ปี บอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง

เพราะอาคารดังกล่าวถือเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของเมืองแพร่ ด้วยนอกเหนือจากคุณค่าด้านสถาปัตยกรรม และคุณค่าทางจิตใจที่อยู่คู่กันมานานบ้านเขียวยังบอกเล่าประวัติศาสตร์การทำไม้ของ .แพร่และของประเทศไทย

ธีรวุฒิ กล่อมแล้ว สถาปนิกและประธานภาคีเครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่าแพร่ กล่าวว่า การที่จะรื้อถอนอาคารหรือปรับปรุงโครงสร้างอะไรสักอย่าง เพื่อประกอบเข้ากันเหมือนเดิมได้ ต้องมีการทำเครื่องหมายหรือกำกับว่าชิ้นส่วนที่รื้อออกมาอยู่ตรงส่วนไหนของอาคาร

สำคัญที่สุดอาคารบอมเบย์เบอร์มาแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ก่อสร้างโดยช่างฝีมือในอดีตผสมผสานระหว่างช่างพื้นบ้านกับช่างตะวันตก จึงได้ยินอยู่เสมอว่าเป็นอาคารลักษณะอาณานิคม คือการผสมผสานระหว่างตะวันตกและช่างพื้นบ้านของไทย

ลักษณะเด่นคือการเข้ารอยต่อระหว่างหัวเสาที่เรียกว่า การเข้าแบบหัวเทียน เป็นการต่อไม้แบบให้เข้าล็อก ยึดด้วยตัวไม้เอง ไม่มีตะปูตอก หาดูได้ยาก ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว และด้วยความเป็นลูกผสมระหว่างตะวันตกที่มีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นและตะวันออกของเมืองไทยที่มีอากาศร้อน ตัวอาคารจึงมีระเบียงที่สวยงามและช่องลมที่แปลกตา ประดับด้วยศิลปะทางเหนือ ลายฉลุต่างๆ สวยงาม สิ่งเหล่านี้หาได้ยากแล้ว ไม่สามารถประเมินคุณค่าที่เสียไปได้

ธีรวุฒิยังบอกเล่าถึงพื้นที่สวนรุกขชาติเชตวันว่า อยู่ในความดูแลของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานฯ เป็นพื้นที่เก่าแก่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการทำไม้ในประเทศไทย โดยมีบริษัทอีสต์เอเชียติกส์ ประเทศเดนมาร์ก และบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง ประเทศอังกฤษ เข้ามาทำสัมปทานไม้ในภาคเหนือตอนบน และเข้ามาในเมืองแพร่ตั้งแต่ปี 2432

โดยบริษัทอีสต์เอเชียติกส์มีสำนักงานอยู่ในโรงเรียนการป่าไม้แพร่ ได้สัมปทานไม้ทางฝั่งตะวันออก บริษัทบอมเบย์เบอร์มา เทรดดิ้ง มีอาคารสำนักงานอยู่ริมแม่น้ำยม คือ อาคารสีเขียว ทั้งสองบริษัทมีท่าน้ำเพื่อทำการล่องซุงอยู่บริเวณเดียวกัน ไม้จะล่องตามลำน้ำยมไปสู่ .นครสวรรค์ ลงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อหมดอายุการอนุญาตทำไม้ก็ได้มอบอาคารให้แก่กรมป่าไม้เพื่อเป็นที่ทำการป่าไม้ภาคแพร่ เวลานี้ สิ่งที่จำเป็นคือ ทำอย่างไรให้อาคารคืนกลับมาให้ใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน