วัดหมื่นล้าน

ชื่อนี้จริงๆ หรือ วัดหมื่นล้าน ได้มาจากอะไร

มันม่วง

ตอบ มันม่วง

“วัดหมื่นล้าน” หรือชื่อเดิม วัดหมื่นสามล้าน ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ จ.ศ. 822 (พ.ศ. 2002) ถึง จ.ศ. 825 (พ.ศ. 2005) ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังรายผู้ครองบัลลังก์ล้านนาประเทศ ผู้สร้างวัดคือขุนพลคู่ใจของพระองค์ นาม “หมื่นโลกสามล้านขุนพลแก้ว” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “หมื่นด้ง” หรือ “หมื่นด้งนคร” เพื่ออุทิศแก่แม่ทัพของอยุธยาที่พ่ายสงครามและเสียชีวิตในสนามรบ รวมถึงอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรดาแม่ทัพนายกองของล้านนา

โดยจัดหาสถานที่สร้างวัดขึ้นภายในกำแพงเมืองเบื้องบูรพาทิศ ห่างจากประตูเมืองไปยังใจกลางเมือง 100 ขาธนู (1 ขาธนูเท่ากับ 1 วา) คือประมาณ 100 วา ในปีมะเส็ง จ.ศ. 822 ครั้นถึงปีมะแม จ.ศ. 825 จึงได้เฉลิมฉลองถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา

วัดหมื่นล้านโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมศิลปะพม่า โดยเฉพาะพระวิหาร ซึ่ง “หลวงโยนการพิจิตร” คหบดีชาวพม่า หรือชาวบ้านเรียกว่า “ขุนหลวงโย” ต้นตระกูลอุปโยคิน ได้สละทรัพย์บูรณะในปี จ.ศ. 1279 (พ.ศ. 2460-รัชกาลที่ 6) ทดแทนของเดิมที่เสียหาย โดยต่อเติมมุขด้านวิหารหลังเดิมออกมาคลุมบันได หน้าบันงดงามด้วยลวดลายแกะสลักไม้รูปนกยูงรำแพนประดับกระจกสี เอกลักษณ์ของศิลปะพม่า รายล้อมด้วยพรรณพฤกษา

ภายในวิหารซึ่งผสมผสานศิลปะล้านนาโบราณ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัชราสน์ (ขัดสมาธิเพชร) สร้าง พ.ศ. 2460 ในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นพระประธาน มีพระปางมารวิชัยขนาดเล็กและพระยืนปางต่างๆ ตั้งอยู่รายรอบ เครื่องสัตตภัณฑ์ หรือเชิงเทียนตั้งอยู่หน้าพระประธาน เป็นรูปพญานาคพันกันหลายตัว ฝาผนังเขียนภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ

ยังมีเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ศิลปะแบบพม่า ได้รับการบูรณะพร้อมกับพระวิหาร ฐานเจดีย์ย่อเก็จ 3 ชั้น แต่ละมุมมีเจดีย์บริวารขนาดเล็กและมีสิงห์เฝ้าอยู่มุมละ 2 ตัว องค์เจดีย์สีทอง ส่วนบนประดับด้วยกระจกสี ยอดเจดีย์เป็นฉัตร 7 ชั้น ด้านข้างพระเจดีย์คือหอไตรสถาปัตยกรรมแบบล้านนาผสมพม่า สังเกตได้จากงานแกะสลักไม้รูปนกยูงรำแพนที่อยู่ด้านบน บางส่วนทาด้วยสีแดงและสีทอง ช่องลมเหนือบานประตูเป็นลายฉลุอ่อนช้อย กรอบช่องลมประดับด้วยปูนปั้นครุฑคาบนาค

พระอุโบสถตั้งอยู่ด้านข้างหอไตร สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด เพราะของเดิมถูกไฟไหม้ เป็นอาคารปูน สถาปัตยกรรมแบบล้านนา หน้าบันประดับด้วยลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ด้านหน้าประดิษฐานพระยืนปางรำพึง

ปี พ.ศ. 2563 วัดหมื่นล้านทำการบูรณะบานประตูโบราณด้วยการทาสีชาดและลงรักบานประตูวิหารปิดทับลายรดน้ำเดิม ทั้งนี้จากการตรวจสอบ ผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรพบว่าสามารถลอกสีที่ทาทับได้ และพบลายรดน้ำบนบานประตูยังอยู่ ส่วนลายฉลุทองประดับผนังหลังองค์พระประธานที่ถูกสกัดออกจากผนัง เสียหายทั้งหมด ไม่สามารถซ่อมแซมคืนสภาพได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน