ไฮด์ปาร์ค – ไฮด์ปาร์ค มีที่มาอย่างไร

กุลตอบ กุล

คำตอบนำมาจากบทความ “ไฮด์ปาร์ค วิถีแห่งปชต.กล้าวิจารณ์การเมือง-โจมตีรัฐบาล มีที่มาจากไหน?”

“ไฮด์ปาร์ค” เป็นที่รู้จักของคนไทยในช่วงไม่กี่ปีก่อน พ.ศ. 2500 เป็นการออกมาชุมนุมเพื่อ พูด-ปราศรัย-ถก-วิจารณ์เรื่องต่างๆ ในสังคม ส่วนมากมุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมืองและดูเป็นการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งแตกต่างจากไฮด์ปาร์คเวอร์ชั่นต้นฉบับจากประเทศอังกฤษ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงเรื่องการเมือง แต่ให้ความสำคัญเน้นย้ำบนรากฐาน “เสรีภาพแห่งการพูด” จึงพูดทุกเรื่อง เช่น สิทธิสตรี แรงงาน การทหาร ศาสนา มังสวิรัติ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

อุทยานไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) สวนสาธารณะในอังกฤษ มีพื้นที่หนึ่งที่เรียกว่า Speakers’ Corner คือพื้นที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มักมีคนมาชุมนุมกันพูดคุย/วิพากษ์วิจารณ์/เรียกร้อง หรืออะไรก็ตามแต่ที่ต้องการพูด

Speakers’ Corner มีจุดเริ่มห่างจากมุมนั้นไม่กี่ก้าว ตรงบริเวณที่เรียกว่า Tyburn Gallows ซึ่งเป็นตะแลงแกงประหารชีวิตนักโทษด้วยการแขวนคอมาเนิ่นนานหลายร้อยปี ก่อนจะถูกแขวนคอ นักโทษจะกล่าว Final Speech บ้างสารภาพความผิด บ้างสวดอ้อนวอนพระเจ้า บ้างกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ บ้างสาปแช่ง นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดปราศรัยในที่สาธารณะต่อหน้าประชาชนที่มาชุมนุมอย่างเนืองแน่น

รูปแบบของ Speakers’ Corner ในปัจจุบัน เริ่มต้นในกลางศตวรรษที่ 19 จากเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐสภาที่ออกกฎหมายห้ามการซื้อ-ขายในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดเพียงวันเดียวของผู้ใช้แรงงาน การรวมตัวที่กลายเป็นการจลาจลโดยกลุ่มหัวรุนแรง ทำให้รัฐบาลเข้าปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมหลายคน

ค.ศ.1872 รัฐสภาอังกฤษจึงออกพระราชบัญญัติระเบียบอุทยาน (Parks Regulation Act) ให้สิทธิประชาชนในการพบปะและพูดอย่างอิสระในอุทยานไฮด์ปาร์ค แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการขอใบอนุญาตในการปราศรัย

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการเดินขบวนชุมนุมขนาดใหญ่ในอุทยาน เรียกร้องให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง การชุมนุมมีขึ้นทุกสัปดาห์ตั้งแต่ ค.ศ. 1906 จนเมื่อถึงวันสตรีแห่งชาติ 21 มิถุนายน 1908 ผู้หญิงออกมาเดินขบวนชุมนุมมากกว่า 250,000 คน โดยกระจายตัวไปฟังปราศรัยในจุดต่างๆ ในอุทยานซึ่งมีกว่า 20 แห่ง

การปรากฏขึ้นของไฮด์ปาร์ค และ Speakers’ Corner ในกรุงลอนดอน สร้างแรงบันดาลใจและแพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งในการพูดหรือการปราศรัย ผู้พูดต้องยืนอยู่ในจุดที่มองเห็นได้ง่าย ในช่วงทศวรรษ 1930 นิยมใช้ Soapbox หรือลังสบู่ มาวางเป็นเวที

แม้เสรีภาพของการพูดจะได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐ แต่เจ้าหน้าที่รัฐมักสอดส่องการปราศรัยเสมอ บางครั้งอาจหาเหตุจับกุมประชาชน กล่าวโทษว่าวาทกรรมทางการเมืองนั้นเป็นการปลุกเร้าอาชญากรรม ความรุนแรง และเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย

เสรีภาพแห่งการพูดเป็นประเพณีหนึ่งของชาวอังกฤษที่ถือปฏิบัติกันมานานจวบจนได้รับการยอมรับให้เป็นกฎหมายในที่สุด ถือเป็นชัยชนะของประชาชนที่เรียกร้องสิทธินี้มาอย่างยาวนาน บุคคลสำคัญๆ เช่น คาร์ล มาร์กซ์ และวลาดีมีร์ เลนิน ต่างก็เคยมาพูดที่ Speakers’ Corner แล้วทั้งนั้น

อุทยานไฮด์ปาร์คจึงนอกจากจะเป็นสถานที่จัดกิจกรรม พักผ่อน และออกกำลังกาย ยังเป็นสถานที่ “ออกกำลังฝีปาก” และด้วยการพูดที่วางอยู่บนหลักของเสรีภาพนี้เองที่ก่อให้เกิด “การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล” ตามหลักการ “ประชาธิปไตย”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน