กลุ่มอาคารศาลฎีกา ยุคคณะราษฎร

ที่เรียกว่า กลุ่มอาคารศาลฎีกาของคณะราษฎร หมายถึงตรงไหน

ดัชนี

ตอบ ดัชนี

เกี่ยวกับ “กลุ่มอาคารศาลฎีกา” ในยุคของคณะราษฎร ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ระบุไว้ว่า ผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของคณะราษฎร คือ กลุ่มอาคารศาลฎีกา (เดิม) ณ ริมถนนราชดำเนินใน ซึ่งถูกทุบรื้อไปแล้ว

โดยที่กลุ่มอาคารดังกล่าวไม่เพียงมีคุณค่าและความสำคัญในแง่สถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ความสำคัญและคุณค่าสูงสุดของกลุ่มอาคารแห่งนี้ คือ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็น กลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึก “การได้เอกราชที่สมบูรณ์ทางการศาล” เมื่อปี พ.ศ.2481

สืบเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง สมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้ไทยเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้แก่อังกฤษรวมถึงชาติอื่นที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ เพราะไทยไม่มีเอกราชทางการศาลนั้น จึงเท่ากับไม่มีเอกราชที่สมบูรณ์ เพราะอำนาจทางการศาลหรือตุลาการ เป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะราษฎรให้ความสำคัญและพยายามเรียกร้องมาโดยตลอด ภารกิจแรกของคณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ ปรีดี พนมยงค์ ปรับปรุงประมวลกฎหมาย เพื่อจะทำให้ไทยมีเอกราชทางการศาล จนกระทั่งทำสำเร็จในปี พ.ศ.2481 นานาประเทศ ยอมรับกฎหมายของไทย และยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทั้งหมด

เมื่อไทยได้รับเอกราชทางการศาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสนอว่า ควรสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นที่ระลึกการได้เอกราชที่สมบูรณ์ จึงได้พัฒนากลุ่มอาคารด้านการยุติธรรมขึ้น ณ ริมถนนราชดำเนินใน บริเวณเดียวกันกับที่ตั้งอาคารศาลสถิตยุติธรรมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในตอนแรกสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกานั้น ไม่ได้ทุบศาลสถิตยุติธรรมหลังเดิมแแต่อย่างใด

เมื่อผ่านพ้นยุคสมัยของคณะราษฎร มีความพยายามจะรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกาหลายครั้ง แต่ในที่สุดอาคารกลุ่มนี้ก็ถูกรื้อในปี 2555 โดยไม่ฟังเหตุผลและเสียงคัดค้านจากสังคม

ทุกวันนี้เหลือเพียงอาคารศาลยุติธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่ได้รับการงดเว้นไม่รื้อถอนทำลาย ในฐานะอาคารแรกในกลุ่มอาคารนี้ที่สร้างเสร็จ ด้านหน้าอาคารมีเสา 6 ต้น สื่อความหมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร นับเป็นมรดกที่สำคัญของคณะราษฎร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน