ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่น ๆ
มีบางถ้อยคำจาก ภาณุ ตรัยเวช เผยไว้ก่อนวันรวมเรื่องสั้น “ลิงหินและเรื่องสั้นอื่นๆ” สำนักพิมพ์มติชน ผ่านเข้ารอบ Shortlist รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2563

(สำนักพิมพ์มติชน, 256 หน้า, 245 บาท)

อาจารย์หนุ่มผู้มีผลงานเขียนหลากหลาย ทั้งนวนิยาย สารคดี ไลต์โนเวล เรื่องสั้น ระบุ จะเป็นงานเขียนแนวไหนก็ตาม งานของตนจะมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง จากความเป็นคนที่สนใจการเล่าเรื่องว่าเล่ายังไงให้ออกมาสนุกที่สุด เล่ายังไงให้เรื่องยากๆ อย่างเรื่องประวัติศาสตร์หรือเรื่องที่ไกลตัวผู้คน พอเล่าแล้วอยากรู้ต่อ อยากจะฟัง หรืออยากจะอ่านต่อ ซึ่งการเล่าเรื่องแบบนี้สามารถนำไปใช้ได้ในงานเขียนทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม สารคดี หรือแม้แต่เปเปอร์วิชาการ

รวมเรื่องสั้น “ลิงหิน และเรื่องสั้นอื่นๆ” ภาณุกล่าวว่า เรื่อง ลิงหิน ที่ใช้เป็นชื่อเรื่อง มาจากเรื่องผีที่ได้อ่านตอนเด็กๆ แล้วชอบมาก จนคิดว่านี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งที่ทำให้สนใจเรื่องเล่าแนวนี้ และหลายเรื่องในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้จะมีขนบของเรื่องผี ขนบของเรื่องลี้ลับ เรื่องที่เหนือจริง หรือเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นจริงได้

“สิ่งที่ผมคิดว่ามันแตกต่างจากเรื่องลี้ลับทั่วไปคือความน่าสนใจ สิ่งลี้ลับย่อมทำให้เราอยากรู้ และผมอยากจะเล่นกับจุดนี้ มันไม่ใช่เรื่องลี้ลับที่ทำให้เรากลัว ไม่ใช่เรื่องลี้ลับที่มาข่มขู่หรือมากดทับเราไว้ แต่เป็นเรื่องลี้ลับที่ทำให้เราเกิดความสนใจและอยากศึกษามันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าสังคมไทยมันมีพื้นที่ลี้ลับและมีเรื่องที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลอยู่เยอะ ตรงนี้มันน่าสนใจดี ความลึกลับกับความรู้มันมีพรมแดนบางอย่างที่ใกล้ชิดกันอยู่ และสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมผลิตเรื่องสั้นออกมาเรื่อยๆ ได้ จนออกมาเป็นรวมเรื่องสั้นเล่มนี้”

11 เรื่องสั้นเรียงร้อยภายใต้คอนเซ็ปต์ “ชีวิตและงาน” ของนักเขียนหรือตัวละครในวรรณกรรมสากล ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องสั้น “นาวาคนเขลา” ตัวละครชื่อ เฟอดินานด์ มิรันด้า นำมาจากบทละคร The Tempest ของวิลเลียม เช็กสเปียร์, ในเรื่องสั้น “ฝันกลางวันกลางฤดูร้อน” นายอุทิศ เป็นตัวละครประจำเรื่องผีของ ครูเหม เวชกร และในเรื่องสั้น “เรื่องที่ 11” คือ นิทานเวตาล ที่เพิ่มขึ้นมาจากบทประพันธ์แปลทั้งสิบเรื่องของกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.)

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้นำบุคลิก จากบุคคลจริงในแวดวงวรรณกรรมมา โลดแล่นอยู่ในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ที่เป็น 1 ใน Shortlist ซีไรต์ 2563

 

บุ๊กสโตร์

ผู้สื่อข่าวหรรษา

“นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2563” ชวนติดตามข้อคิดเห็นใหม่ที่อ้างอิงจากเอกสารหลักฐานเก่า ผนวกกับวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ผลงานเขียน รศ.พิชญา สุ่มจินดา คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสนอว่า “เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งจัดแสดง ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ไม่ใช่ เศียรใหญ่ของพระศรีสรรเพชญ”

ฟันธงสวนทางกับที่เคยมีการเสนอไว้ว่า เศียรพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่นั้นเป็นเศียรพระศรีสรรเพชญ ด้วยการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยเฉพาะประเด็น เศียรใหญ่มีพระพักตร์สอดคล้องกับพระพุทธรูปในช่วงที่สร้างพระศรีสรรเพชญหรือไม่

เริ่มจากอ้างอิงตามพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐที่ระบุว่า พ.ศ.2043 เป็นปีเริ่มหล่อพระศรีสรรเพชญ การศึกษาครั้งนี้จึงรวบรวมข้อมูลพระพุทธรูปแถบภาคกลางของไทยมาเทียบเคียงกัน สำคัญคือ พระพุทธรูปนายจอมเภรี ปรากฏจารึกที่ฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2052 ห่างจากปีอ้างอิงที่สร้างพระศรีสรรเพชญเพียง 9 ปี, พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องน้อย วัดราชธานี จังหวัดสุโขทัย มีจารึกระบุปีที่สร้างตรงกับ พ.ศ.2084 ห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญ 41 ปี และพระมงคลบพิตร สร้างใน พ.ศ.2081

พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ มีพระพักตร์ใกล้เคียงกัน พระเนตรเล็กเรียวเหลือบลงต่ำ, พระขนงโก่ง พระนาสิกเล็กคมเป็นสัน เว้นแต่พระมงคลบพิตรมีพระโอษฐ์ในสัดส่วนที่กว้างกว่าซึ่งแม้ว่าปีที่สร้างพระพุทธรูปนายจอมเภรี พระมงคลบพิตร และพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อยดังกล่าว จะห่างจากปีที่สร้างพระศรีสรรเพชญในระหว่าง 9-41 ปี แต่ก็จะเห็นว่าพระพักตร์ของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกันมากนัก

ส่วน เศียรใหญ่ พระพักตร์เป็นทรงผลมะตูม พระปรางอิ่ม พระศกเป็นหนามขนุน แสดงความคมชัดและชัดลึกขององค์ประกอบพระพักตร์ที่เด่นชัดกว่าพระพุทธรูปสมัยก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเหลี่ยมพระขนงยกขึ้นเป็นสันคมไม่เป็นเส้นพระขนงแบบเดิมรับกับพระนาสิกใหญ่โด่งเป็นสันมนปลายงุ้ม พระเนตรรูปช้อย หางพระเนตรเรียวแหลมขึ้นแบบที่เรียกว่า ตานกนอน เปลือกพระเนตรกว้าง เส้นขอบบนของพระเนตรล้อกับเหลี่ยมพระขนงที่ค่อนข้างกว้างเช่นกัน พระโอษฐ์กว้าง แย้มพระสรวลเล็กน้อย

จึงน่าจะสรุปได้ว่า “เศียรใหญ่ มีพระพักตร์ “ไม่สอดคล้อง” กับพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาใกล้เคียงการสร้างพระศรีสรรเพชญ พ.ศ.2043”

อ่านการสืบค้นเข้มข้น อาทิ ไทยหลังศึกญี่ปุ่น นโยบายใหม่ เปลี่ยนจากแพ้ เป็นชนะ, มิชชันนารีอเมริกัน กับการจัดการโรคระบาดสมัยต้นรัตนโกสินทร์, ล่องแจ้ง สมรภูมิสุดท้ายในสงครามลาว เป็นต้น

“รักนวลสงวนสิทธิ์” โดย ภาวิณี บุนนาค ถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้และเสียงของผู้หญิงหลากชนชั้น หลากสถานะ ในระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเสียงที่ยังถูกกดทับด้วยอำนาจศักดินาและความเป็นชายที่ยังคงอยู่ในสังคมไทย

ในรอยต่อของรัฐจารีตและรัฐชาติสมัยใหม่ เรื่องราวมากมายถูกคัดสรรบันทึก เรื่องราวมากมายถูกซุกซ่อน อย่างจงใจ ทว่าหลายเรื่องราวกลับถูกหลงลืมทิ้งไว้ราวกับว่าไม่ควรค่าแก่การจดจำ เรื่องราวของผู้หญิงไทยในประวัติศาสตร์ก็ดูคล้ายจะเป็นเช่นนั้น เป็นเพียงภาพพร่าเลือนของช้างเท้าหลังที่อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน

“รักนวลสงวนสิทธิ์” พาเจาะลึกลงไปในวิถีชีวิตของผู้หญิงไทยที่ถูกละเลยจากหน้าประวัติศาสตร์ เปิดเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิ์เหนือเนื้อตัวร่างกายของหญิงไทยผ่านคดีความและฎีกาในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัยสังคมไทย ทั้งเปิดเผยมิติชีวิตและบทบาททางเศรษฐกิจของพวกเธอในพื้นที่สาธารณะ อันจะนำไปสู่การเปิดปูมปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่เบื้องหลังระบบกฎหมายสมัยใหม่และสังคมไทยซึ่งกดทับตัวตนของคนทุกเพศทุกชนชั้นเสมอมา

“บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒” (150 บาท, สนพ.สยามปริทัศน์) รวมบทความเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ขบวนการเสรีไทย และเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย รวบรวมและร่วมเขียนโดย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งในห้วงของสงคราม เป็นทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

“เห็นว่า หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ก็ได้ประทานเล่า ไว้…ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตว่า “ถ้าเป็นจริงก็เล่าได้” นั้นแล้วก็ทำให้ข้าพเจ้ามีกำลังใจจัดทำหนังสือให้ชื่อว่า บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยถือวิสาสะที่ท่านหญิงมีพระเมตตานั้น เชิญคำประทานเล่าบางตอนในหนังสือเล่มนั้นมาลงพิมพ์ไว้ เป็นเรื่องประเดิมเริ่มแรก

ต่อไปก็มีเรื่องของ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ “พระบรมวงศานุวงศ์กับขบวนการเสรีไทย”..ในส่วนข้าพเจ้าก็จะได้นำบางเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นไปบางประการภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งผู้อยู่ภายนอกอาจยังไม่ทราบหรือทราบบ้างก็เป็นข่าวลือทอดๆ กัน”

สายไหม” (695 บาท, สนพ. bookscape) ได้เวลาออกเดินทางย้อนรอยเส้นทางสายไหม เครือข่ายเส้นทางสายประวัติศาสตร์ที่เชื่อมร้อยโลกตะวันออก เข้ากับโลกตะวันตก เชื่อมร้อยผู้คน การค้า ศาสนา โรคภัย สงคราม ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีจากทั่วทุกมุมโลก

ปีเตอร์ ฟรานโคพาน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด พาไปสำรวจพรมแดนของประวัติศาสตร์โลกที่ทอดกลับไปนับพันปี สู่อาณาจักรโบราณ การค้าทาสการเรืองอำนาจชาวไวกิ้ง โรมัน และเปอร์เซีย การค้นพบทวีปใหม่ จักรวรรดิมองโกลอันเกรียงไกร ความขัดแย้งสมัยสงครามโลก และปมการเมืองอันเป็นชนวนสงครามใหม่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โลก พลิกผันมาเป็นโลกอย่างที่เรารู้จักในวันนี้

“เพื่อจะเข้าใจโลกทั้งในปัจจุบันและวันข้างหน้า จำเป็นต้องเข้าใจโลกเมื่อวันวานและการจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องมาตั้งหลักกัน ณ จุดเริ่มต้นนั่นคือเริ่มที่เส้นทางสายไหม”

..นิตยสารสารคดี ฉบับกันยายน 2563 รำลึก 30 ปี สืบ นาคะเสถียร ข้าราชการที่กล้าหาญคัดค้านโครงการของรัฐและอิทธิพลที่คุกคามผืนป่า นักวิชาการก้าวหน้าที่นำเสนอแนวทางเพื่อให้ทั้งมนุษย์และธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ด้วย “#30เรื่องราวขับเคลื่อนชีวิตสืบและการอนุรักษ์ธรรมชาติ” โดย ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล ประมวลเรื่องช่วง 41 ปีของชีวิตสืบ และ 30 ปีหลังจากที่เขาทำให้กระแสการอนุรักษ์ตื่นตัวทั่วประเทศ

พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน