ปราสาทนครหลวง-นครธม

น้าชาติเคยเล่าถึงการจะเคลื่อนย้ายนครวัดมาสยามตามรับสั่งร.4 แต่ทำไม่ได้ ต้องสร้างจำลองแทน นครธม ละครับ มีจะย้ายหรือจำลองมาไหม

นายวัน

ตอบ นายวัน

พบคำตอบอยู่ในบทความเรื่อง “จำลองนครธม-รื้อนครวัด ความพยายามของสยาม” ว่า นครวัด-นครธม โบราณสถานของกัมพูชาด้วยความงามในเชิงสถาปัตยกรรม, ความสามารถเชิงช่าง และประวัติที่ยิ่งใหญ่ ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และไม่ใช่เพิ่งรู้จักใน ยุคปัจจุบัน แต่รู้จักกันแต่ครั้งอดีตตามที่ปรากฏในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ สำหรับไทย นอกจากรู้จักและชื่นชอบแล้ว ยังมีความต้องการที่มากกว่านั้นอีกขั้น คือการจำลองแบบและการย้ายโบราณสถานดังกล่าวตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้ช่างถ่ายแบบปราสาท “นครธม” ในกัมพูชา มาสร้างเป็นที่ประทับริมแม่น้ำป่าสักระหว่างทางเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท แล้วให้ชื่อว่า “พระนครหลวง”

ปราสาทนครหลวงตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ด้านทิศเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ระยะทางตามถนนหลวง 21 กิโลเมตร อยู่ในเขตพื้นที่ ต.นครหลวง อ.นครหลวง เป็นโบราณสถานระหว่างเส้นทางจะไปหมู่บ้านอรัญญิกที่มีชื่อเสียงทางการตีเหล็กมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนปัจจุบัน

มูลเหตุการสร้างปราสาทนครหลวง ปรากฏข้อความในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เพิ่ม) ว่า ศักราช 993 ปีมะแมศก (พ.ศ.2174) ทรงพระกรุณาให้ช่างไปถ่ายแบบอย่างนครหลวงและปราสาทกรุงกัมพูชาประเทศ เข้ามาให้ช่างกระทำพระราชวัง เป็นที่ประทับร้อน ตําบลริมวัดเทพจันทร สําหรับจะเสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท จึงเอานามเดิม ซึ่งถ่ายมา ให้ชื่อว่า “พระนครหลวง”

ปราสาทนครหลวงน่าจะเรียกเพี้ยนกันต่อมา จึงไม่มีคําว่า “พระ” นําหน้า “นครหลวง” สําหรับนครหลวงที่กล่าวถึงในพงศาวดารฯ ก็คือปราสาทนครธมนั่นเอง

การที่พระเจ้าปราสาททองส่งช่างไปถอดแบบปราสาทนครหลวง หรือนครธม มาสร้างเป็นพระราชวังเพื่อเป็นที่ประทับร้อนนั้น พระองค์คงจะเลื่อมใสต่อลัทธิเทวราชแบบขอมที่ถือว่ากษัตริย์คือเทพเจ้าที่จุติมาในโลกมนุษย์ ซึ่งแสดงถึงอํานาจในการปกครอง โดยผสมผสานความเชื่อทางศาสนาให้เกิดรูปแบบในการปกครองที่น่าเกรงขาม และเกิดความเคารพยําเกรงอาญาสูงขึ้น อันเป็นผลทําให้ระยะเวลาในการปกครองอำนาจของพระองค์ยาวนานถึง 26 ปี

ลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง นิยมทําตามแบบศิลปะเขมรหลายแห่ง เช่น วัดไชยวัฒนาราม พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2175 โดยครั้งแรกทรงให้ชื่อปราสาทหลังนี้ว่า “คิริยโรธรมพาพิมานบรรจง” ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “จักรวรรดิไพชยนต์” ตามที่โหรหลวงทํานายว่าจะต้องเปลี่ยนชื่อ

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับความกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงการเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาททางชลมารค ตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เคลื่อนขบวนพยุหยาตราไปโดยแนวชลมารค กําหนดระยะแต่ขนานประจําท่าพระราชวังหลวง ถึงที่ประทับร้อนพระนครหลวงเป็นทาง 396 เส้น” (ระยะทาง ตามลําน้ำป่าสักจนถึงปราสาทนครหลวง ประมาณ 11 กิโลเมตร)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน