ผู้สื่อข่าวหรรษา

…เดือนนี้ ตุลาคม “สำนักพิมพ์มติชน” ชวนอ่าน “October Reads: หนังสือการเมืองเดือนตุลาคม”

เดือนประวัติศาสตร์ไทยบันทึก เหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือน ไม่เพียงทางการเมือง แต่ยังรวมถึงต่อสังคมไทยและประชาชนไทย เดือนที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ คือ “14 ตุลา 2516” การปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

และ “6 ตุลา 2519” การปราบปรามอย่างรุนแรงของ เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจ-ทหารอาวุธครบมือ และฝ่ายขวา ต่อนักศึกษาและประชาชนผู้ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ หลังเคลื่อนมาจากท้องสนามหลวง ปราบปรามเหี้ยมโหดกระเหี้ยนกระหือรือเพื่อปิดฉากการประท้วง การเดินขบวน และการยึดพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของนักศึกษากรรมกร และผู้ประท้วงซึ่งต่อต้านการเดินทางกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร

ทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำว่า “คนเดือนตุลา” ในเวลาต่อมาสำนักพิมพ์มติชนแนะนำหนังสือการเมืองเดือนตุลาคมให้ได้อ่าน เพื่อรู้เท่าทันเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ของชาติกลับมาซ้ำรอย

หนังสือแนะนำ ประกอบด้วย ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร / ชาตรี ประกิตนนทการ, สู่สังคมไทยเสมอหน้า / ผาสุก พงษ์ไพจิตร, When We Vote พลวัตการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในอาเซียน / ประจักษ์ ก้องกีรติ / ประชาธิปไตยคนไทยไม่เท่ากัน / อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ราษฎรสามัญหลังวันปฏิวัติ 2475 / ศราวุฒิ วิสาพรม, เผด็จการวิทยา / พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี / ณัฐพล ใจจริง, จาก 14 ถึง 6 ตุลา / ป๋วย อึ๊งภากรณ์, เสน่ห์ จามริก, เบนเนดิกต์ แอนเดอร์สัน

บันทึกประวัติศาสตร์ 14 ตุลา / ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, บ้านเมืองของเราลงแดง / เบเนดิกต์แอนเดอร์สัน, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย / คริส เบเคอร์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร, มหาวิทยาลัยชีวิต / เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, ใบไม้ที่หายไป / จิระนันท์ พิตรปรีชา, 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง / ธงชัย วินิจจะกูล, มนุษย์ 6 ตุลา / มนุษย์กรุงเทพฯ

ยังมี… “ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น” โดย จิราพร ดำจันทร์ วิเคราะห์หาคำตอบเส้นทาง “การเปลี่ยนแปลง” ประชาธิปไตยไทย ที่ “ไม่เปลี่ยนแปลง” ครั้งแล้วครั้งเล่า

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในปี 2475 เริ่มต้นขึ้นพร้อมกับความมุ่งหวังที่จะก่อร่างและลงหลักปักฐานระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ยอมรับกันว่าชอบธรรมในระดับสากล แต่ความมุ่งหวังและความพยายามนั้นกลับล้มเหลวซ้ำ แล้วซ้ำเล่า

“ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น” นำเสนอเส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย 4 ครั้งสำคัญของไทยในช่วงระยะเวลา 85 ปีที่ผ่านมา จากปี 2475-2560 เพื่อตอบคำถามที่ว่า เหตุใดไทยจึงไม่อาจจะสถาปนาและจรรโลงประชาธิปไตยให้มั่นคงได้ ทั้งที่ได้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยมาแล้วหลายครั้งเปิดเผยให้เห็นถึงบทบาทของตัวแสดงทางการเมือง ทั้งชนชั้นนำ กลุ่มเคลื่อนไหว และพลังฝ่ายอนุรักษนิยม

“และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ หนังสือที่เกิดขึ้นภายใต้สภาวะทางการเมืองเริ่มคุกรุ่นด้วยวาทกรรมพระราชอำนาจซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ และเริ่มกลับมาทำงานอีกครั้ง จนนำไปสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วก็ได้เห็นปรากฎการณ์ที่ปัญญาชน 14 ตุลาฯ จำนวนมากซึ่งครั้งหนึ่งเคยต่อสู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน กลับขานรับรัฐประหาร

หนังสือเล่มนี้ช่วยทำความเข้าใจว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวมิได้เป็นเหตุบังเอิญทางประวัติศาสตร์ หากแต่มีเชื้อมูลมาตั้งแต่ ก่อน 14 ตุลาฯ ที่วาทกรรมพระราชอำนาจ หรือ “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” ยังคงทำงานอย่างทรงพลังในทางการเมือง และยิ่งทำให้ตระหนักว่าประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลาฯ นั้นมีข้อจำกัดอย่างไร

ข้อเด่นของผลงานของอาจารย์ประจักษ์ในบรรดางานวิชาการเกี่ยวกับการเมืองวัฒนธรรมไทยที่ผ่านมาอยู่ตรงมันเป็นความพยายามศึกษาวิจัยประวัติการเมืองวัฒนธรรมไทยที่นำไปสู่เหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อย่างกว้างขวาง ครอบคลุม เป็นระบบ หลากหลายด้าน และเจาะลึกที่สุด

“ราษฎรธิปไตย” ศรัญญู เทพสงเคราะห์ เขียนถึงการต่อสู้เพื่อสถาปนาความหมาย คุณค่าและความทรงจำต่อระบอบประชาธิปไตยในยุคคณะราษฎร

 

หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรได้สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในสยามประเทศ เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยสู่ราษฎรผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง แต่ทว่า ช่วงเวลาหลังการปฏิวัติ การเมืองไทยผันผวน คณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตยถูกโจมตี ถูกบั่นทอนจากฝ่ายอนุรักษนิยม จนทำให้อำนาจที่เคยอยู่ในมือราษฎรค่อยๆ หายไป พร้อมๆ กับความทรงจำของสังคมที่ถูกตัดต่อ ลดทอน และทำลาย

กระทั่งผ่านมาเกือบ 90 ปี ไม่มีใครจำได้อีกแล้ว ว่าสังคมยุคหลังการปฏิวัติ 2475 ที่เป็นประชาธิปไตยหน้าตาเป็นอย่างไร

ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เวลาอยู่กับบันทึก หนังสือ เอกสาร และรูปภาพเก่า ค่อยๆ เรียงร้อยความทรงจำยุคประชาธิปไตย ออกมาเป็นหนังสือรวมบทความเล่มนี้ ที่จะรื้อฟื้นความทรงจำ ปะติดปะต่อภาพที่ขาดวิ่นของอดีต และ ส่งมอบหน้าประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าให้แก่สังคม

“บ้านเมืองของเราลงแดง” เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เขียนแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม / แปลโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, เกษียร เตชะพีระ

เหตุการณ์ “6 ตุลา” เกิดขึ้นและผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว แต่ก็เหมือนกับเหตุการณ์อีกหลายหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ของไทย คือไม่อาจหาคำตอบให้ชัดเจนได้แม้ในปัญหาที่เป็นเรื่องง่าย ตรงไปตรงมา และไม่ต้องการการวิเคราะห์ทางหลักวิชาอันลึกซึ้งใดๆ แม้แต่น้อย

เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ใครคือ ผู้สั่งการให้กองกำลังติดอาวุธของรัฐบาลบุกเข้าไปสลายผู้ชุมนุมประท้วงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเหี้ยมโหด การจับกุมตัวแทนนักศึกษาที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีในตอนเช้ามืดวันนั้นเป็นการจัดการของใคร และเพราะเหตุใดนายกรัฐมนตรีท่านนั้นจึงไม่อาจรับผิดชอบ เหตุการณ์ใดๆ ได้

ทำไมการโกหกหลอกลวงว่าในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นมีอาวุธสงคราม อยู่มากมายจึงมิได้เป็นเรื่องที่น่าละอาย หากกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้สึกว่า จะต้องรับผิดชอบกับถ้อยคำเหล่านั้น ทั้งในเวลานั้นและต่อมา

นี่ยังไม่ต้องนับไปถึงปัญหาที่ว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งหมดนั้น ซึ่งแม้แต่บัดนี้ ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้

และ…“เขียนชนบทให้เป็นชาติ” โดย เก่งกิจ กิติ เรียงลาภ ภายใต้เงา ของสหรัฐอเมริกาและบริบทสงครามเย็น “หมู่บ้าน” และ “ชนบท” ในประเทศโลกที่ 3 โดยเฉพาะในประเทศไทย เริ่มถูกจัดวางในแผนที่ ถูกจินตนาการ และถูกประดิษฐ์ภาพแทนขึ้นใหม่ในโครงการปฏิรูปชนบทเพื่อสร้างรัฐประชาชาติและป้องกันคอมมิวนิสต์

หมู่บ้านจึงกลายมาเป็นการจัดประเภทที่ถูกวัดประเมินและผลิตซ้ำได้ เป็นหน่วยที่มีอิสระในตัวเองและมีเอกภาพ ก่อนที่ความตื่นตัวในการศึกษาหมู่บ้านและชนบทเหล่านี้จะนำไปสู่การสถาปนา “ชนบทศึกษา” รวมไปถึงอุตสาหกรรมการวิจัยทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ถูกขับดันไปด้วยวาระทางการเมือง

พบกันใหม่อาทิตย์หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน