แก๊สน้ำตา

แก๊สน้ำตาใครเป็นคนคิดขึ้นมา ใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่ อันตรายที่สุดระดับไหนครับ

เด็กดอย

ตอบ เด็กดอย

พัฒนาการของแก๊สน้ำตาย้อนไปยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ปรากฏมีการใช้สาร Chloroacetophenone (CN) สร้างความระคายเคืองต่อระบบหายใจ โดยกองทัพฝรั่งเศสบรรจุใส่ลูกระเบิด ตามด้วยเยอรมนีที่พัฒนาและนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

จนกระทั่ง ค.ศ.1928 ที่ Middlebury College สองนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันนาม เบน คอร์สัน และ โรเจอร์ สตัฟตัน คิดค้นแก๊ส ortho-chloro benzylidene malononitrile หรือ CS gas ขึ้น (CS นำมาจากอักษรตัวแรกของชื่อสกุลของ นักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง) มีประสิทธิภาพมากกว่า CN gas ถึงสิบเท่าตัว แต่มีอันตรายถึงชีวิตน้อยกว่ามาก

ผ่านมาถึง ค.ศ.1958 กองทัพอังกฤษได้ทดลองใช้ CS gas เป็นครั้งแรกที่เมืองไซปรัส ภายใต้ชื่อ T7923 และนับจากนั้น CS gas ก็เข้ามาทําหน้าที่แทน CN gas อย่างเต็มตัวในทางการทหารของหลายประเทศ เรียกชื่อว่า แก๊สน้ำตา (tear gas) ส่วน CN gas ถูกนําไปใช้ในการผลิตแก๊สป้องกันตัวชนิดพกพา หรือรู้จักกันในนามสเปรย์พริกไทย

แก๊สน้ำตายังปรากฏบทบาทในสงครามเวียดนาม เป็นที่กล่าวขวัญว่ากองทหารสหรัฐอเมริกาใช้แก๊สน้ำตาถึง 1,000 ตัน ขับไล่ทหารเวียดกงออกจากอุโมงค์และฐานลับ ซึ่งแม้ว่าแก๊สน้ำตาจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่การใช้ในปริมาณมากและใช้ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ทําให้ทหารเวียดกงหลายพันนายเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้

ระหว่างนั้นในค.ศ.1969 มีการลงมติจาก 80 ประเทศ ให้ถือว่าแก๊สน้ำตาเป็นอาวุธเคมีชนิดหนึ่งที่ถูกห้ามใช้ในสงครามตามสนธิสัญญาเจนีวา และที่สุดในค.ศ.1997 นานาชาติได้ลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้วยข้อตกลงหยุดใช้แก๊สน้ำตาในสงคราม เหตุเพราะเมื่อมีการยิงแก๊สน้ำตาจากฝ่ายหนึ่ง จะถูกตอบโต้กลับด้วยอาวุธที่มีอานุภาพรุนแรงกว่า

ทั้งนี้ แก๊สน้ำตาทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตาและแก้วตาดำ โดยแก๊สจะกระตุ้นประสาทต่อมน้ำตาทำให้หลั่งน้ำตา ปวดตา และมองไม่เห็นชั่วคราว ทั้งยังส่งผลต่อจมูก ปากและปอด ทำให้จาม ไอ หายใจลำบาก การสัมผัสกับแก๊สน้ำตาอาจก่อให้เกิดฤทธิ์ระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการเกิดโรคทางเดินหายใจ การบาดเจ็บต่อตาและโรคตาอย่างรุนแรง เช่น โรคประสาทตาจากอุบัติเหตุกระจกตาอักเสบ ต้อหินและต้อกระจก ผิวหนังอักเสบ ความเสียหายต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด และทางเดินอาหาร และเสียชีวิตได้โดยเฉพาะเมื่อได้รับแก๊สน้ำตาความเข้มข้นสูง หรือเมื่อใช้แก๊สน้ำตาในที่ปิด

แก๊สน้ำตาถึงจะไม่มีอันตรายมาก แต่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังมีรายงานการเสียชีวิตจากการใช้แก๊สน้ำตาเนื่องจากปอดบวมน้ำ เลือดออกในปอด ปอดอักเสบ หรือการขาดอากาศหายใจ (โดยเฉพาะหากอยู่ในบริเวณที่ปิดมิดชิด ไม่มีอากาศถ่ายเท) หรืออาจเสียชีวิตจากการที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิม

การใช้งานมีทั้งการยิงจากเครื่องยิงแก๊สน้ำตา และใช้แบบระเบิดขว้าง โดยกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกเคยทำวิจัยลูกระเบิดขว้างแก๊สน้ำตา มีระยะเวลาการเกิดควัน 50 วินาที ครอบคลุมพื้นที่ 150 ตารางเมตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน