บ่อน2 : โรงบ่อนกรุงเทพฯ

ฉบับวานนี้ (18 ม.ค.) “สุชิต” อยากทราบความเป็นมาของบ่อนและการมีบ่อนในกรุงเทพฯ เมื่อวานตอบถึงกำเนิดบ่อนครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว วันนี้ไปเข้าโรงบ่อนเบี้ยกรุงเทพฯ กัน คำตอบนำมาจากงานวิจัยของ วีระยุทธ ปีสาลี ซึ่งภายหลังเรียบเรียงเป็นหนังสือชื่อ “” ดังนี้

“โรงบ่อนเบี้ย” เป็นพื้นที่บันเทิงของพระนครที่ได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 2430 เป็นต้นมา โดยได้รวมเอากิจกรรมการพักผ่อนหย่อนใจในยามค่ำคืนหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งการเล่นพนัน การชมมหรสพ และการเดินหา ของกินเล่น จนทำให้คนกรุงเทพฯ ออกมาเที่ยวเตร่ตามโรงบ่อนต่างๆ

ความบันเทิงชนิดต่างๆ ที่เจ้าของบ่อนจัดหามาไว้เพื่อดึงดูดใจให้ลูกค้าเข้ามาเล่นการพนันในบ่อน มีอาทิ ละคร โดยเฉพาะละครผู้หญิง ลิเก งิ้ว เป็นต้น การแสดงเหล่านี้เล่นกันตั้งแต่เช้าประมาณเก้านาฬิกาไปจนถึงเที่ยงคืน

บ่อนยังมีความสำคัญในฐานะแหล่งรายได้ที่นำเงินเข้ารัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำ ดังเช่นสถิติการเก็บภาษีของรัฐใน พ.ศ. 2435-2436 และ พ.ศ. 2439-2440 ซึ่งภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ ผู้เขียนบทความ “ความสำคัญของการพนันและการเล่นหวยในสังคมสยาม ที่มาของภาษีบาป” อธิบายไว้ว่า รายได้รวมจากบ่อน หวย ฝิ่นและสุรา นับเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้รัฐ อาจเรียกได้ว่าเงินที่ได้จาก “ภาษีบาป” เหล่านี้ทำให้รัฐสยามมีรายรับที่มั่นคงมากกว่ารายได้จากแหล่งอื่นๆ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 การเก็บภาษีบ่อนและหวยก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยอยู่ในชื่อ “ภาษีการพนัน” ในแต่ละปีรัฐสามารถจัดเก็บภาษีชนิดนี้ได้สูงถึง 500,000 บาท

บ่อน (และหวย) ยังเป็นภาพสะท้อนการขยายตัวของเมือง เนื่องจากในขณะนั้น (ราวช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-5) บ่อนกลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจของชนชั้นล่างโดยเฉพาะพวกผู้ใช้แรงงาน เป็นแหล่งรวมของนักเลง มีหาบเร่ของกินที่มาตั้งแผงขายรองรับผู้มาใช้บริการบ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี โรงงิ้ว และโรงรับจำนำ

“อาจกล่าวได้ว่าหากบ่อนไปตั้งที่ใด ที่นั้นก็จะกลายเป็นชุมชนขนาดย่อมที่มีร้านรวงต่างๆ เกิดขึ้นตามมาเช่นกัน ทั้งนี้จากการสำรวจจำนวนบ่อนในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2430 พบว่ามีจำนวน 400 แห่ง และในจำนวนนี้ 126 แห่งเป็นบ่อน ขนาดใหญ่

การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับหัวเมืองต่างๆ ก็ได้ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้คนและการเล่นพนันเช่นกัน ใน พ.ศ.2443 เมื่อทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ และนครราชสีมาเสร็จสิ้น ประชาชนจากหัวเมืองนั่งรถไฟเข้ามาในเมืองกรุงเพื่อเล่นการพนันจนต้องมีการจัดรถไฟเสริม”

อย่างไรก็ตาม บ่อนต้องมาพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญดังที่ วีระยุทธ ปีสาลี อธิบายไว้ว่า “ในปี พ.ศ. 2430-2460 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจบ่อนเบี้ยขนาดใหญ่ กล่าวคือ รัฐได้เข้ามาควบคุมกิจการบ่อนเบี้ยด้วยการลดจำนวนบ่อนเบี้ยลงเรื่อยๆ ให้เหลือแต่บ่อนใหญ่ และย้ายทำเลที่ตั้งจากริมถนนให้ไปอยู่ในที่ลับตาคนตามตรอกซอย แต่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจของเมืองคือสำเพ็งและตอนใต้ของพระนคร และได้พัฒนาบ่อนใหญ่ที่เหลืออยู่ให้เป็นที่ศูนย์รวมความบันเทิง ก่อนยกเลิกกิจการบ่อนเบี้ยอย่างถาวรใน พ.ศ. 2460”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน