ชื่อปีนักษัตร

ตรุษจีนเปลี่ยนปีนักษัตร ชื่อปีชวด ฉลู ขาล เถาะ ฯลฯ มาได้ยังไง

ข้าน้อย

ตอบ ข้าน้อย

คำตอบนำมาจากบทความ “ชื่อปีนักษัตรไทยมาจาก “ภาษาสหประชาชาติ” ทั้งไทย, มอญ, เขมร, จาม, จีน ฯลฯ” โดย ทอง โรจนวิภาต สรุปดังนี้

ในสาส์นที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีไปมาติดต่อกับเสฐียรโกเศศ หรือพระยาอนุมานราชธน แสดงความสนพระทัยว่าชื่อปีของไทย ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ มีที่มาอย่างไร เป็นภาษาอะไร ทรงค้นชื่อปีในภาษาจีนและภาษาของชนชาติต่างๆ เช่น พม่า มอญ เขมร ญวน จาม ทิเบต และญี่ปุ่น ทั้งให้ท่านเสฐียรโกเศศค้นชื่อในภาษาจีนหลวง (จีนกลาง) และให้ถามจากมหาฉ่ำ (ศ. ฉ่ำ ทองคําวรรณ) ถึงชื่อปีในภาษาเขมร

และต่อไปนี้เป็นชื่อปีอย่างมอญ เขมร และจาม ที่มีในสาส์นสมเด็จ

ชื่อปีที่เราเรียกรวมว่า 12 นักษัตร คือถือเอาตามดาวฤกษ์ 12 ดวง ซึ่งกําหนดให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ โดยท่านเสฐียรโกเศศได้กล่าวไว้ว่า

“เรื่อง 12 นักษัตรเป็นที่น่าฉงนที่สุด ชื่อปีที่เรียกว่า ชวด ฉลู ก็พ้องกันแต่ลางชื่อที่อยู่ในชาตินี้บ้าง ชาติโน้นบ้าง หาที่พ้องกันหมดไม่ได้ เป็นแต่ได้แน่ว่าจะมีที่มาแห่งเดียวกัน และเป็นของที่ต่างฝ่ายได้มาในรุ่นหลัง เพราะเขมรกับมอญเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน ควรที่พ้องชื่อกันหมด แต่ไม่เช่นนั้น มอญดูเป็นว่าเรียกตามชื่อสัตว์โดยตรง เพราะมีคํา “แส้ะ” ซึ่งแปลว่าม้า แต่ชื่ออื่นสอบไม่ออก”

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมฯ ประทานความเห็นไว้ว่า ชื่อปีเถาะของมอญที่ว่า “กะต้าย” นั้น น่าจะเป็นคํา กระต่าย ของไทยที่เอามาจากมอญ และ “คำนั่ก” ที่เป็นปีมะโรง น่าจะได้แก่ “คำนาค” ในภาษามคธ ปีมะเมียที่มอญเรียก “แส้ะ” นั้นไปตรงกับคํา “แสะ” ซึ่งแปลว่าม้าในภาษาเขมร แต่เขมรเรียกชื่อปีม้าว่า “มะมี” และปีมะแมที่มอญเรียก “คะแบะ” นั้นใกล้มาทางเขมรซึ่งเรียกแพะว่า “พะแพ” (ในตาราง ปีมะแมในภาษาเขมรเรียก มะแม)

ท่านเสฐียรโกเศศให้ความเห็นว่า ชวดกับเถาะ ตรงกับชื่อสัตว์ในภาษาจีน, วอก ตรงกับพายัพ (ไทยเหนือ), จอ ตรงกับญวน, มะโรง ตรงกับหล่งหรือร่องของจีนและญวน, กุน-ปีหมู น่าจะตรงกับ เปิ้งจ๊าง (พึ่งช้าง) ของไทยเหนือ และกุนอาจมาจากกุญชรก็ได้, ฉลู-ปีวัว น่าจะตรงกับ Kabave ควายในภาษาจาม

เมื่อรวมมติของนักปราชญ์ทั้งสองแล้ว พอจะอนุมานที่มาของชื่อปีได้ดังนี้ ชวด น่าจะมาจากภาษาจีน, ฉลู น่าจะมาจากภาษาจาม, ขาล ไม่มีมติในชื่อนี้ ผู้เขียนเห็นว่าใกล้มาทางขลา หรือคลาของเขมร ซึ่งแปลว่า เสือ, เถาะ น่าจะมาจากภาษามอญและจีน, มะโรง น่าจะมาจากภาษาจีนและญวน

มะเส็ง ไม่มีมติในชื่อนี้, มะเมีย และ มะแม ท่านเสฐียรโกเศศให้ความเห็นว่าเป็นชื่อตามเสียงที่สัตว์นั้นร้อง คือ ม้าและแพะ, วอก น่าจะมาจากภาษาไทยเหนือ, ระกา ไม่มีมติในชื่อนี้, จอ น่าจะมาจากภาษาญวน, กุน น่าจะมาจากภาษาไทยเหนือ

ทั้งนี้ ผู้เขียน คือ ทอง โรจนวิภาค มีความเห็นว่า วอก กับ จอ น่าจะเป็นภาษาส่วย เพราะส่วยเรียกลิงว่า เว้าะ เรียกหมาว่า จอ และถ้าหากวอกกับจอเป็นภาษาส่วยจริง ชื่อปีของไทยจึงเรียกได้ว่าเป็น “ภาษาสหประชาชาติ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน