จาก‘พม่า’สู่‘เมียนมา’

ทําไมพม่าเปลี่ยนชื่อเป็นเมียนมาครับ

กระดุม

ตอบ กระดุม

มีคำตอบอยู่ในบทความ “ทหารพม่าในการเมือง นัยของคณะรัฐประหาร เปลี่ยนชื่อประเทศ เบอร์มา เป็น เมียนมา” เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com สรุปความว่า

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) นายพลซอหม่อง นำกองทัพ (ภายใต้นายพลเนวิน) ยึดอำนาจการเมือง และสถาปนาสภาฟื้นฟูกฎและระเบียบแห่งรัฐ หรือ State Law and Order Restoration Council-SLORC (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น The State Peace and Development Council หรือ SPDC) ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 1974

ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยของพม่าจัดตั้งพรรค National League for Democracy (NLD) มี ออง ซาน ซูจี บุตรีของอองซาน เป็นเลขาธิการพรรค

SLORC ประกาศจัดการเลือกตั้งหลายพรรคให้เป็นการเลือกตั้งที่อิสระและยุติธรรมในปี 1990 อย่างไรก็ตาม ในปี 1989 SLORC ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การเมืองภายในได้ และประกาศ ใช้กฎอัยการศึก เกิดการจับกุมประชาชน นักสิทธิมนุษยชน และนักประชาธิปไตยจำนวนมาก

วันที่ 27 พฤษภาคม 1989 SLORC ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Burma (เบอร์มา) เป็น Myanmar (เมียนมา)

รายงานข่าวจากสำนักข่าว BBC อธิบายว่า สำหรับชื่อ เบอร์มา กับ เมียนมา ทั้งสองคำมีความหมายเหมือนกัน ในศตวรรษที่ 19 คำ ในภาษาอังกฤษสะกดว่า Burma เป็นคำแผลงที่ใช้กันระดับ ท้องถิ่น โดยแผลงมาจากคำว่า Myanmar

นอกจากนี้สื่อบางสำนักยังบ่งชี้ว่า คำว่า Burma คือคำที่เจ้าอาณานิคมใช้เรียกประเทศแห่งนี้ และเชื่อว่า คำว่า Myanmar สะท้อนถึงความหลากหลายของกลุ่มชนในพม่ามากกว่าคำว่า Burma แต่ฝ่ายที่คัดค้านมองในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง โดยชี้ว่า คำว่า Myanmar เป็นการแสดงความไม่เคารพชนกลุ่มน้อยในประเทศมากกว่า Burma

รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ Gustaaf Houtman นักโบราณคดีที่ทำงานเขียนเกี่ยวกับการเมืองพม่ามาหลายชิ้น ว่า “คำศัพท์แบบทางการคือ Myanmar ส่วนคำแบบไม่เป็นทางการ คำที่ใช้กันในชีวิตประจำวันคือคำว่า Burma สำหรับคำ Myanmar เป็นคำที่ใช้ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับงานเขียนงานประพันธ์ เป็นคำแบบพิธีการ ทางการ และสะท้อนกลิ่นอายของความเป็นรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงชื่อจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการเซ็นเซอร์”

ด้าน Richard Coates นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งเวสเทิร์น อิงแลนด์ แสดงความคิดเห็นว่า การนำคำเชิงทางการดั้งเดิมมาใช้เป็นความพยายามโดยคณะรัฐประหารเพื่อลบภาพหรือแยกตัวออกจากอดีตในช่วงอาณานิคม

การใช้คำเรียกชื่อประเทศนี้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งคำเรียกชื่อประเทศย่อมสะท้อนถึงจุดยืนทางการเมืองของผู้พูดด้วย

เพราะ “เมียนมา” มาจากกองทัพที่ต้องการเปลี่ยนชื่อประเทศ เมื่อปี 1989 หลังการปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย อย่างนองเลือดเมื่อปี 1988 ทำให้ “พม่า” กลายเป็นที่รังเกียจของนานาชาติ ยากที่จะกู้ภาพลักษณ์คืน

ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ อยากให้นานาชาติยอมรับ กองทัพจึงทิ้งชื่อเก่าที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคม ให้เหตุผลว่าชื่อเก่าไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในประเทศ

ปัจจุบันชื่อประเทศอย่างเป็นทางการคือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Republic of the Union of Myanmar)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน