แตะเอีย-อั่งเปา (ตอนแรก)

ธรรมเนียม แจกอั่งเปา-แตะเอียตรุษจีนเป็นมาอย่างไร

เฮีย

ตอบ เฮีย

คำตอบนำมาจากหนังสือ เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ โดย ถาวร สิกขโกศล ว่า สิ่งที่เด็กๆ รอคอยมากที่สุดในเทศกาลตรุษจีนเห็นจะได้แก่เงิน “แตะเอีย” ซึ่งขอแปลเอาความว่า “เงินก้นถุงท้ายปี” ที่ต้องมีติดตัวไว้ให้ต่อเนื่องกับเงินในปีต่อไป

เงินชนิดนี้ภาษาจีนกลางเรียก “ยาซุ่ยเฉียน” แต้จิ๋วว่า “เอี๊ยบส่วยจี๊” แปลว่า “เงินกด (ท้าย) ปี” แต่ภาษาพูดเรียกว่า “แตะเอีย” แปลว่า “ทับเอว ถ่วงเอว” เพราะเงินสมัยก่อนเป็นโลหะ นิยมเก็บใส่ไถ้ (ถุงผ้ายาว) เคียนเอวไว้ หรือใช้เชือกร้อย ผูกไว้กับเอว การให้เงินก้นถุงท้ายปีจึงถือเป็นการถ่วงเอว

ในภาษาพูดแต้จิ๋วเรียกการให้เงินชนิดนี้อีกอย่างว่า “เอี๊ยบ โต๋วเอีย” แปลว่า “ถ่วงเอี๊ยม” ปกติเอี๊ยมที่เด็กจีนคาดจะมีกระเป๋าอยู่ข้างหน้า เงินที่ผู้ใหญ่ให้เป็นก้นถุงท้ายปีจะใส่ไว้ในกระเป๋านี้ ถ่วงให้เอี๊ยมหนักขึ้น ผู้ใหญ่ให้เงินก้นถุงเด็กตอนสิ้นปีเพื่อเป็น เงินมงคล ให้เด็กมีเงินติดกระเป๋าไว้เพื่อต่อเงินประจําปีหน้า และเป็นการสอนเด็กให้รู้จักเก็บออม ต้องมีเงินเหลืออยู่ในกระเป๋าตลอดทั้งปี

เงินก้นถุงท้ายปีนี้ โดยปกติผู้ใหญ่ให้แก่เด็ก แต่ต่อมาเงินที่ลูกหลานให้แก่ญาติผู้ใหญ่ในเทศกาลตรุษจีนก็นิยมเรียกว่าแตะเอียเหมือนกัน และเงินบําเหน็จพิเศษ (โบนัส) ที่ห้างร้านหรือนายจ้างให้แก่ลูกจ้างก็เรียกว่าแตะเอียด้วย

ที่มาของประเพณีนี้มีความเห็นเป็น 2 ทาง ทางหนึ่งว่ามาจากประเพณีการให้ “ยาซุ่ยผ่าน-พานกดท้ายปี” ของสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ บ้านที่มีเด็กจะเอาพานหรือถาดใส่ผลไม้ให้เป็นของขวัญกัน ขุนนางก็ถวายกล่องผลไม้แด่ฮ่องเต้ ต่อมาการให้พานหรือถาด ผลไม้ที่เรียกว่า ยาซุ่ยผ่าน ไม่สะดวก จึงเปลี่ยนเป็นเงินที่เรียกว่า ยาซุ่ยเฉียน แทน

ถึงสมัยราชวงศ์ชิง ประเพณีการให้ ยาซุ่ยเฉียน หรือเงิน แตะเอีย แพร่หลายไปทั่ว ถึงคืนสิ้นปีผู้ใหญ่จะเอาด้ายแดงร้อยเงินเหรียญกษาปณ์เป็นพวงไปวางไว้ที่ขาเตียงนอนเด็ก ภายหลังนิยมใช้กระดาษแดงห่อเงินแทน เรียกเงินนี้ว่า “อั่งเปา” หมายถึง“เงินห่อกระดาษแดง” อันเป็นสิริมงคล

อีกทางหนึ่งว่าแตะเอียมาจากการให้ “เงินกดอุปัทวันตราย” ซึ่งออกเสียงว่า ยาซุ่ยเฉียน เช่นกัน แต่อักษร “ซุ่ย” ตัวนี้แปลว่าอุปัทวันตรายจากผีร้าย พ้องเสียงกับคํา “ซุ่ย” ที่แปลว่าปี ต่อมาชื่อประเพณีนี้จึงผิดเพี้ยนเป็น ยาซุ่ยเฉียน ที่หมายถึงเงินกด (ท้ายปี)

ประเพณีการให้เงินกดอุปัทวันตรายมาจากความเชื่อที่ว่า ยังมีผีร้ายตนหนึ่งชื่อ ซุ่ย ตัวดํามือขาว ตากลมน่ากลัว ทุกคืนสิ้นปีจะออกมาหลอกหลอนทําร้ายเด็ก ผู้คนจึงจุดโคมไฟอยู่เฝ้าตลอดคืน เรียกว่า “เฝ้าซุ่ย”

ที่เมืองเจียซิง มีผู้เฒ่าแซ่ก่วน ได้ลูกชายเมื่อชรา เขาเล่นกับลูกจนเผลอหลับไป เงินเหรียญที่ห่อกระดาษแดงไว้ 8 อันกระจายอยู่รอบหมอนที่เด็กน้อยหนุนอยู่ พอ ซุ่ย จะมาจับต้องตัวเด็กก็เกิดรัศมีสีทองแผ่พุ่งออกมาทําให้ผีร้ายหนีไป ตั้งแต่นั้นชาวบ้านจึงเอากระดาษแดงห่อเหรียญกษาปณ์วางไว้ข้างหมอนลูกหลานในคืนวันสิ้นปี

ฉบับพรุ่งนี้ (16 ก.พ.) อ่านตำนาน “แตะเอีย-อั่งเปา” กันต่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน