ภูเก็ต

เมืองภูเก็ตมีมาตั้งแต่โบราณมั้ยคะ

นู๋

ตอบ นู๋

“ภูเก็ต” แต่ก่อนนิยมเรียกกันว่า เมืองถลาง เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่ราว พ.ศ.700 ในบันทึกของ ปโตเลมี เคยกล่าวถึงการเดินทางจากสุวรรณภูมิไปแหลมมลายูที่อยู่ทางใต้ว่า จะต้องผ่านแหลมจังซีลอน (Junk Ceylon) เสียก่อนแหลมจังซีลอนนี้ก็คือ แหลมสลาง หรือ แหลมถลาง นั่นเอง

สมัยต่อมา กัปตันเรืออังกฤษ โธมัส ฟอร์เรสต์ เดินเรือจากอินเดียมายังหมู่เกาะมะริด แวะพักที่เกาะถลางเมื่อ พ.ศ.2327 เขียนบันทึกไว้ว่า “เกาะ Jan Sylan ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอ่าวเบงกอล และแยกออกจากผืนแผ่นดินใหญ่โดยช่องแคบอันเต็มไปด้วยทรายยาวประมาณหนึ่งไมล์ ช่องแคบนี้จะถูกน้ำท่วมเวลาน้ำขึ้น (น้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 10 ฟุต) และตอนเหนือสุดของช่องแคบก็เป็นท่าเรือที่ดีเยี่ยม เรียกว่า ปากพระ Popra”

คำว่า Junk ของปโตเลมี หรือ Jan ของกัปตันฟอร์เรสต์ สันนิษฐานว่ามาจาก อุยัง หรือ Ujung แปลว่าปลายสุด คือแหลมส่วนคำว่า Ceylon หรือ Sylan หรือ ซาลัง อาจจะมาจากคำ ลาแล แปลว่าหญ้าคา หรือคำว่า สิแร แปลว่าพลู ทั้งสองคำเป็น ภาษาพื้นเมือง

แต่เดิมเมืองถลางเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ สำหรับแวะพักของเรือสินค้า กระทั่งมีชื่อปรากฏในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็นเมืองรวมกับเมืองตะกั่วป่า เรียก เมืองตะกั่วถลาง เป็นเมืองหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตร ตราประจำเมืองเป็นรูปสุนัข หมายถึงปีจอ

เกาะถลางเพิ่มความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีแร่อุดมสมบูรณ์มาก โดยเฉพาะดีบุก จึงเกิดการขยายตัวกลายเป็นเมืองท่าและ การค้าที่สำคัญเมืองหนึ่ง และยกฐานะเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลาง เป็นหัวเมืองชั้นตรี

ราว พ.ศ.2229 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ พ่อค้าชาวฝรั่งเศสได้บรรยายสภาพทั่วไปของเมืองถลางไว้ว่า “เป็นเกาะเล็กๆ วัดโดยรอบยาวประมาณ 35 ไมล์ ตั้งอยู่ริมชายทะเลฝั่งตะวันตกแหลมมะละกา ห่างจากฝั่งประมาณระยะทางปืนสั้น และอยู่ในระหว่าง 6 และ 8 ดีกรีของละติจูดเหนือ…ตามเกาะภูเก็ตเต็มไปด้วยป่าไม้ทึบ มีแต่เสือ ช้าง แรด และสัตว์ร้ายอย่างอื่นอาศัยอยู่”

ยังมีรายงานที่ กัปตันฟรานซิส ไลต์ เขียเมื่อ พ.ศ.2326 ว่า “เกาะภูเก็ตมีท่าเรือกว้างมาก ทางด้านตะวันตกปลอดภัยทุกฤดูท่าเรือดียิ่ง ดินก็อุดม และอากาศก็ถูกสุขลักษณะ”

ปี พ.ศ.2384 พงศาวดารเมืองถลางบันทึกไว้ว่า เมืองถลางและเมืองภูเก็ตเป็นคนละเมืองกัน และปรากฏชื่อเกาะภูเก็ตขึ้นเมื่อ พ.ศ.2169 โดยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้พระราชทานที่ดินให้พวกฮอลันดาสร้างสถานีเก็บสินค้าขึ้นที่แถบปากน้ำเจ้าพระยาแล้วให้ตั้งสาขาขึ้นที่เกาะภูเก็ตและนครศรีธรรมราช จึงเข้าใจว่าคงจะเป็นในสมัยนี้ที่ได้เกิด เมืองภูเก็ต ขึ้น

หลังจากอังกฤษขยายกิจการค้ามายังบริเวณนี้ ทำให้การผลิตและค้าดีบุกในเมืองถลางขยายตัวอย่างรวดเร็ว ราชสำนักกรุงเทพฯจึงเริ่มให้ความสน ส่งขุนนางออกไปดูแลโดยตรง กระทั่งพม่าเผาทำลายในปี 2352 เมืองถลางเกือบกลายเป็นเมืองร้าง ชาวบ้านอพยพไปตั้งเมืองใหม่ที่พังงา บนฝั่งตรงกันข้าม กระทั่ง พ.ศ.2367 จึงย้ายกลับไปตั้งเมืองใหม่ที่ถลาง จน พ.ศ.2383 รัชกาลที่ 3 ทรงให้เมืองถลางขึ้นกับเมืองพังงา

ในระยะที่โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองถลางขึ้นใหม่ บริเวณบ้าน ทุ่งคาได้กลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น คือ เมืองภูเก็ต เนื่องจากมีแหล่งแร่ดีบุกอุดมสมบูรณ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน