ไทยค้นพบพืชวงศ์ขิง8+1 ชนิดใหม่โลก

ข่าววันก่อน พบพืช พันธุ์ขิงชนิดใหม่ๆของโลก มีอะไรบ้าง

ตุ้มเป๊ะ

ตอบ ตุ้มเป๊ะ

ข่าวดีสำหรับวงการพฤกษศาสตร์ไทยเปิดเผยต้อนรับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day of Biological Diversity) 22 พฤษภาคม 2564 นักวิชาการชาวไทย (รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช และ ผศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม) ค้นพบพืชวงศ์ขิง 8 ชนิด แบ่งเป็น สกุลขมิ้นหรือสกุลกระเจียว (Curcuma) 6 ชนิด และ สกุลเปราะ (Kaempferia) 2 ชนิด มีลักษณะพืชแตกต่างและไม่ตรงกับพืชชนิดอื่น ถือเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก โดยผู้วิจัยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามกฎเกณฑ์การตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของพืช และตีพิมพ์ในวารสาร Biodiversitas แล้ว

พืช 6 ชนิดในสกุลกระเจียวที่ค้น พบใหม่ ประกอบด้วย 1.ขมิ้นน้อย หรือ Khamin-Noi ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma chantaranothaii Boonma & Saensouk เป็นพืชป่าจาก จ.นครนายกที่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วประเทศ ทั้งนี้ ชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งเป็นเกียรติแก่ ศ.ดร.ประนอม จันทรโณทัย นักพฤกษศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในแวดวงพฤกษศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก

2.กระเจียวรังสิมา หรือ Krachiao Rangsima หรืออีกชื่อหนึ่งคือ บุษราคัม หรือ Bussarakham ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma rangsimae Boonma & Saensouk พบใน จ.นครนายก สระบุรี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และนครราชสีมา ชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งเป็นเกียรติแก่ รังสิมา ตัณฑเลขา ผู้อำนวยการโปรแกรมอาวุโส โปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ เป็นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังและสนับสนุนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

3.ขมิ้นพวงเพ็ญ หรือ Khamin-Puangpen ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma puangpeniae Boonma & Saensouk อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พบที่ จ.ราชบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งเป็นเกียรติแก่ ศ.พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ คนไทยคนแรกที่ศึกษาพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย

4.กระเจียวจรัญ หรือ Krachiao Charan ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma charanii Boonma & Saensouk อยู่ในกลุ่มเดียวกันกับพวกขมิ้นหรือกระเจียว พบที่ จ.ลพบุรี ชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งเป็นเกียรติแก่ ดร.จรัญ มากน้อย ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์ขิง โดยเฉพาะสกุล Curcuma ในประเทศไทย

5.พญาว่าน หรือ Phraya Wan ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma phrayawan Boonma & Saensouk พบที่ จ.นครนายก และปลูกเป็นพืชสมุนไพรทั่วไทย ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตามชื่อพื้นเมืองที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ พญาว่าน

6.กระเจียวม่วง หรือ อเมทิสต์ ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma purpurata Boonma & Saensouk พบที่ จ.ศรีสะเกษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์พืชชนิดนี้ตาม สีม่วงของดอกพืช

ส่วนอีก 2 ชนิดในสกุลเปราะ คือ นิลกาฬ หรือ Nillakan ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia nigrifolia Boonma & Saensouk ชื่อพื้นเมืองตั้งขึ้นตามลักษณะเด่นของพืชคือ ใบมีสีดำและดอก สีม่วง พบทางภาคกลางของประเทศไทย

และ ว่านกระชายดำเทียม ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Kaempferia pseudoparviflora Saensouk and P. Saensouk ลักษณะเด่น ใบมี ใบเดียว ก้านช่อดอกสั้น และช่อดอกอัดแน่น พบทางภาคเหนือของประเทศไทย

นอกจาก 8 ชนิดข้างต้น ยังมีพืชวงศ์ขิงที่มีการรายงานใหม่ในประเทศไทย 1 ชนิด คือ ว่านหัวน้อย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Curcuma peramoena Souvann. & Maknoi. พบครั้งแรกที่ประเทศลาว และพบในประเทศไทยที่ จ.อุตรดิตถ์ ลักษณะเด่น ช่อดอกอัดแน่น ดอกสีขาวปนสีชมพูอ่อน กลีบปากมีแถบ สีเหลือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน