พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค

ประเทศไทยเคยมีพรรคการเมืองชื่อไฮด์ปาร์คด้วยหรือ

อยากเลือกตั้ง

ตอบ อยากเลือกตั้ง

คำตอบนำมาจากบทความเรื่อง “เปิดนโยบาย “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” เมื่อ พ.ศ.2499 ห้ามทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”

ในการเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการต่อสู้ของพรรคเสรีมนังคศิลาที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย ควง อภัยวงศ์ แต่ยังมี “พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” อีกพรรคหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยสมัยนั้น

พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับการจดทะเบียนจากกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2498 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2499 เลขทะเบียนที่ 4/2499 มี นายเพทาย โชตินุชิต เป็นหัวหน้าพรรค นายชวน รัตนวราหะ เป็นเลขาธิการพรรค

ย้อนไป พ.ศ.2498 จอมพล ป. ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินดอนเมืองวันกลับจากการเดินทางรอบโลกด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอเมริกา ว่า “การทัศนาจรรอบโลกครั้งนี้ได้ผลคุ้มค่า เพราะได้ความเป็นประชาธิปไตยมาเป็นของฝากแก่พี่น้องชาวไทย”

สิ่งนั้นคือ “ไฮดปาร์ค”…ไฮด์ปาร์คคือการชุมนุมอย่างหนึ่ง เป็นการ “พูด” ที่สาธารณะในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนไทยในยุคนั้น ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองอย่างจริงจัง ขณะที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับตีพิมพ์ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2498 ว่า “ไฮด์ปาร์ค” จะเกิดขึ้นที่สนามหลวงเป็นครั้งแรกของประเทศ

ผู้ริเริ่มจัดไฮด์ปาร์คคือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ อดีต ส.ส.ธนบุรี ได้เชิญนักพูดและนักการเมืองหลายคนมาร่วมไฮด์ปาร์ค เช่น นายเพทาย โชตินุชิต ส.ส.ศรีสะเกษ ไฮด์ปาร์ดที่สนามหลวงได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมากขึ้นและพัฒนากลายเป็น “สภาประชาชน” หรือ “สภาท้องสนามหลวง” จนคำว่าไฮด์ปาร์คติดหูคนไทย

การไฮด์ปาร์คจัดต่อเนื่องข้ามปีไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็เริ่ม หาวิธีต่อสู้ที่หนักหน่วงขึ้น นั่นคือการอดข้าวประท้วง นำโดย นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ รัฐบาลจับกุมผู้ประท้วงก่อนจะปล่อยตัว ในวันที่ 10 มีนาคม 2499

หลังเหตุการณ์ “กบฏอดข้าว” รัฐบาลห้ามการไฮด์ปาร์คด้วยเหตุผลว่า “พูดเกินขอบเขตเป็นอันมาก” อีกทั้งกรมตำรวจก็กล่าวอ้างว่ามีความพยายามแทรกแซงจากพวกคอมมิวนิสต์ ไฮด์ปาร์คจึงสลายตัวไป แต่ท้ายที่สุดก็นำสู่การจดทะเบียนตั้ง “พรรค ขบวนการไฮด์ปาร์ค” สู้ศึกการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500

ในประกาศกระทวงมหาดไทยเรื่องการจดทะเบียนพรรค ขบวนการไฮด์ปาร์ค ระบุถึงอุดมการณ์ของพรรค 4 ข้อคือ 1.เพื่อเอกราชและประชาธิปไตยสมบูรณ์ 2.ต้องเป็นรัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน 3.ประชาชนเป็นใหญ่ 4. รวมกันอยู่ แยกกันเราตาย ทั้งมีนโยบายครอบคลุม ด้านต่างๆ

และโดยเฉพาะนโยบายภายในประเทศ 1. เทิดทูนสิทธิเสรีภาพต่างๆ ของประชาชน 2. กำจัด กวาดล้าง และต่อต้านอภิสิทธิ์ ทั้งหลาย และระบบศักดินาให้สูญสิ้นไป 3. กำจัด กวาดล้าง การทุจริตในวงงานราชการ และทำลายล้างลัทธิการกินสินบนให้สูญสิ้นไป 4. ต่อต้านลิดรอนการใช้อำนาจไม่เป็นธรรมแก่ประชาชนในทุกกรณี

และนโยบายการป้องกันประเทศ ที่ข้อหนึ่งระบุว่า ยึดถือหลักว่า “ทหารเป็นทหารของชาติและของประชาชน” ห้ามมิให้ทหารประจำการเกี่ยวข้องกับการเมือง

ในการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 พรรคขบวนการ ไฮด์ปาร์คได้รับเลือกตั้งส.ส. เพียง 2 คน จากจำนวนส.ส. 160 คน หลังจากนั้นเกิดรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ จึงได้จัดการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน ปรากฏว่าพรรคขบวนการไฮด์ปาร์คได้รับเลือกตั้ง ส.ส. เพียงแค่คนเดียว ก่อนที่คณะปฏิวัติจะออกประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2498 ทำให้พรรคขบวนการไฮด์ปาร์คสิ้นสุดสถานะพรรคการเมืองลงในที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน