ตรุษจีน:เซ่นไหว้ – ถามมาด่วนๆ วันก่อนน้าตอบเรื่องเซ่นไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ วันนี้อยากรู้ว่าแล้วเจ้าต่างๆ ที่เราไหว้ในวันตรุษจีน เป็นเจ้าองค์ไหนบ้าง
หลานน้า
ตอบ หลานน้า

คำตอบนำมาจากหนังสือ เทศกาลจีนและการเซ่นไหว้ โดย ถาวร สิกขโกศล (สนพ.มติชน) ว่า กิจกรรมสําคัญที่ขาดไม่ได้ในทุกเทศกาลจีน คือ “การเซ่นไหว้” ยิ่งเป็นเทศกาลใหญ่อย่างตรุษจีน จะพบเห็นกิจกรรมเซ่นไหว้ตั้งแต่เช้าตรู่จนค่ำมืด ทั้งไหว้ที่บ้าน ที่ศาลเจ้า ที่วัดจีนวัดไทย ที่โรงเจ ฯลฯ

การเซ่นไหว้ของมนุษย์เกิดจากความกลัวธรรมชาติเป็นเบื้องต้น แล้วค่อยๆ พัฒนาจุดประสงค์ต่างกันออกไป พอแยกได้ดังนี้ 1. ไหว้เพื่อขอความคุ้มครองในการงาน, ครอบครัว, สุขภาพ และอาจมีการบนบานพ่วงด้วย 2. ไหว้เพื่อขอบคุณที่คุ้มครอง และ อํานวยสวัสดี 3. ไหว้เพื่อรําลึกถึงพระคุณ ได้แก่ การไหว้บรรพชน, วีรชนและบุคคลสําคัญ 4. ไหว้เพื่อเกื้อกูล ได้แก่ การไหว้ผี ไม่มีญาติ โดยจัดของไหว้วางที่พื้นนอกธรณีประตู, ไหว้อุทิศส่วนกุศลในงานทิ้งกระจาด

ผู้ที่ได้รับการเซ่นไหว้ในเทศกาลจีน 1. ฟ้าดิน คนจีนไหว้ ฟ้าดินก่อนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น เพราะการดํารงอยู่ของมนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาลที่เชื่อว่าเกิดจากอํานาจของฟ้า การตั้งถิ่นฐานและเพาะปลูกซึ่งเป็นอาชีพหลักต้องอาศัยดินเป็นฐาน แล้วประสานแดด ฝน ฤดูกาลจากฟ้า คนจีนจึงเคารพฟ้าเป็นพ่อ ดินเป็นแม่

2. ธรรมชาติต่างๆ คนจีนมีความเชื่อว่าธรรมชาติ เช่น น้ำ, ไฟ, ลม, ฝน, ฟ้าแลบ, ฟ้าผ่า, ภูเขา, ทะเล ฯลฯ ล้วนมีเทพประจําอยู่ 3. เทวดาและเจ้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ ได้แก่ เทพทั้งห้าในยุคโบราณ (เทพแห่งประตูบ้าน, ประตูห้อง, ช่องแสงบนหลังคา, เตาไฟ และทางเดิน) ต่อมาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามถิ่น

4. พระในพุทธศาสนา คือพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระอรหันต์ ภิกษุผู้มีชื่อเสียง เช่น จี้กง ไต้ฮงกง ฯลฯ 5. เทพและเจ้าของศาสนาเต๋า นอกจากเทพในลำดับที่ 1-3 ข้างต้น ยังมีเทพ อื่นๆ อีก 6. บรรพชน เป็นบุคคลสําคัญยิ่งที่ต้องเซ่นไหว้ใน ทุกเทศกาล ปัจจุบันนิยมไหว้เฉพาะบรรพชนของหัวหน้าครอบครัว 3 ชั่วคนขึ้นไป คือ พ่อ ปู่ และทวด

7. วีรชนและบุคคลสําคัญที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล เช่น ชีว์หยวน กวีที่รักประเทศชาติแต่ถูกใส่ร้ายจนสิ้นหวังในอนาคตของบ้านเมือง เขาตัดสินใจโดดน้ำตาย เรื่องนี้ถูกนำมาผูกโยงกับเทศกาลขนมจ้าง เป็นต้น และ 8. ผีต่างๆ ทั้งผีร้าย ผีดี ผีไม่มีญาติ

สำหรับเทศกาลตรุษจีน การเซ่นไหว้เริ่มจากเจ้าเตาในวัน 23 หรือ 24 ค่ำ เดือน 12 (ปฏิทินจันทรคติจีน), ช่วงเช้าวันสิ้นปี (30 ค่ำ เดือน 12) ปี 2565 ตรงกับวันที่ 31 มกราคม ไหว้เจ้าไหว้พระต่างๆ ในบ้าน จากนั้นไหว้บรรพบุรุษ, ไหว้ผีไม่มีญาติตอนบ่าย, กลางคืนเวลา 22.00 น. (ถือเป็นยามแรกของวันใหม่) ไหว้รับ ไฉ่ซิงเอี๊ย-เทพแห่งทรัพย์สิน, วันปีใหม่ (1 ค่ำ เดือน 1) ตอนเช้าไหว้พระไหว้เจ้าในบ้าน ไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นจึงค่อยออกไปไหว้พระเจ้าตามวัดหรือศาลเจ้าที่ศรัทธานับถือ
อย่างไรก็ตามการเซ่นไหว้อาจมีปลีกย่อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเพณีของแต่ละถิ่น, ขนบของแต่ละครอบครัว ความเชื่อของแต่ละบุคคล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน