ตำหนักทองวัดไทร

มีข่าวบูรณะ วัดสมัยอยุธยา วัดไทร ทำไมสมัย นั้นมาสร้างวัดในกรุงเทพฯ
มะเดี่ยว
ตอบ มะเดี่ยว

การบูรณะที่ “วัดไทร” โดยกรมศิลปากร มีชื่อเป็นทางการว่า “โครงการบูรณะและอนุรักษ์ตำหนักทอง วัดไทร” เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564
ตำหนักทองวัดไทรตั้งอยู่ริมคลองสนามชัย บางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เป็นศาลา หรือเรือนไม้ชั้นเดียว ใต้ถุนสูง เดิมมีการลงรักปิดทอง โดยยังเหลือภาพลายรดน้ำบนผนังด้านในฝั่งหนึ่ง

มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเคยเป็นที่ประทับของ “พระเจ้าเสือ” หรือพระเจ้าสรรเพชญ์ที่ 8 เมื่อครั้งเสด็จผ่านทางคลองด่าน ต่อมาทรงอุทิศให้แก่วัด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ถึงเรื่องเล่าดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้เสด็จไปชมตำหนักด้วยพระองค์เอง แล้วทรงบันทึกว่าเป็นตำหนักโบราณจริง

“เมื่อวันที่ 23 และวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 กรรมการ ให้เปิดหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นการพิเศษ สำหรับพระภิกษุสามเณรจะได้ชมตามปรารถนา พระครูถาวรสมณวงศ์ วัดไทร อำเภอบางขุนเทียน แขวงจังหวัดธนบุรี ได้มาชมหอพระสมุดฯ มาบอกว่า ที่วัดไทรมีตำหนักฝาเขียนลายทองรดน้ำอย่างตู้หนังสือในหอพระสมุดฯ อยู่หลังหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันสืบมาว่า เป็นตำหนักของขุนหลวงเสือทรงสร้างไว้ ได้ความดังนี้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2464 ข้าพเจ้าจึงไปดูตำหนักที่วัดไทร เห็นเป็นตำหนักของโบราณจริง และมีเรื่องราวในพงศาวดารประกอบกัน ควรนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งซึ่งเนื่องในโบราณคดี ข้าพเจ้าจึงเรียบเรียงคำอธิบายฉบับนี้ขึ้น สำหรับท่านผู้ที่เอาใจใส่ในโบราณคดี”

พงศ์ธร เหียงแก้ว สถาปนิกชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิชาการอนุรักษ์โบราณสถาน สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร เปิดเผยกับมติชนว่า โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การทำให้กลับมามั่นคงแข็งแรง โดยคงลักษณะเดิมไว้ 2.จัดทำฐานข้อมูลที่ได้จากการอนุรักษ์ให้เป็นระบบ เนื่องจากรอบ 200 ปี มีการบูรณะมาแล้ว 4-5 ครั้งแต่ยังไม่เคยมีการจัดทำฐานข้อมูลใดๆ และ 3.หาหลักฐานเพื่อตอบคำถามที่คลุมเครือทางวิชาการ เช่น อาคารหลังนี้สร้างสมัยอยุธยาจริงหรือไม่ จุดประสงค์การก่อสร้างคืออะไร บางตำนานเล่าว่าเป็นพลับพลาที่ประทับของพระเจ้าเสือ บางตำนานบอกมีการรื้อย้ายจากพระราชวังหลวงอยุธยาแล้วนำมาประกอบที่นี่

และเปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมาใช้เวลาไปกับการเก็บข้อมูล สิ่งที่เจอมีรายละเอียดน่าสนใจเพิ่มจำนวนมาก เช่น ร่องรอยเงาของลายรดน้ำบนหน้าบันซึ่งเป็นสาระสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกว่า เป็นอาคารของใคร ใครสร้าง และพอจะบอกอะไรในเชิงวิชาการได้เพิ่มขึ้น ร่องรอยที่พบเป็นรูปฉัตร เดิมไม่เคยรู้ว่ามี คิดว่าหายหมดแล้ว นอกจากนี้ยังเจอเศษผ้าที่ตกค้างบนหัวเสาจากการถอดส่วนประกอบ

ก่อนหน้านี้ อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรขณะนั้น กล่าวว่า ตำหนักทองแห่งนี้คือสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่งดงามและยังหลงเหลือหลักฐานอยู่มากทั้งตัวเรือนไม้และงานไม้แกะสลักบริเวณกรอบหน้าต่างซึ่งสะท้อนฝีมือช่างหลวง กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ พ.ศ.2505

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน