นํ้าท่วมบ้านในกรุง อยากรู้สมัยก่อนกรุงเทพฯ น้ำท่วมบ่อยไหม หรือว่าน้อยเพราะท่อไม่ตัน
อาบอย
ตอบ อาบอย
คำตอบนำมาจากบทความเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.silpa-mag.com ว่า ประวัติฝนตกหนักน้ำท่วมกรุงเทพฯ เกิดในทุกรัชกาล มีบันทึกหลักฐานเรื่อยมา อธิกาณร์ ปุ๊ดตัน, ภัทรมน แจ่มทุ่ง ค้นคว้าและเรียบรียงไว้ในบทความชื่อ “จดหมายเหตุมหาอุทกภัย 2554 กู้แหล่งโบราณสถานหลังน้ำลด” (ศิลปวัฒนธรรม, ธันวาคม 2554) สรุปดังนี้

รัชกาลที่ 1 ปีมะเส็ง พ.ศ.2328 เกิดอุทกภัย ระดับน้ำที่ท้องสนามหลวงสูงถึง 8 ศอก 10 นิ้ว, รัชกาลที่ 2 วันที่ 28 ตุลาคม 2362 น้ำท่วมส่งผลให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง, รัชกาลที่ 3 วันที่ 4 พฤศจิกายน 2374 น้ำท่วมทั่วพระราชอาณาจักร และมากกว่าปี 2328, รัชกาลที่ 4 เกิดน้ำท่วมใหญ่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2402 และ 1 พฤศจิกายน 2410

รัชกาลที่ 5 วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2442 น้ำท่วมสูงถึง ขอบประตูพิมานไชยศรี พระบรมมหาราชวัง, รัชกาลที่ 6 พ.ศ.2460 น้ำท่วมถึงลานพระบรมรูปทรงม้า จนมีการแข่งเรือ, รัชกาลที่ 8 น้ำท่วมนาน 2 เดือน ปริมาณน้ำมากกว่าเมื่อปี พ.ศ.2460 เกือบเท่าตัว

พ.ศ.2485 ปลายเดือนกันยายนถึง 30 พฤศจิกายน 2485 น้ำท่วมลานพระบรมรูปทรงม้า สูงถึง 1.50 ม. และท่วมนาน 3 เดือน รวมถึงพื้นที่สำคัญๆ เช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

รัชกาลที่ 9 พ.ศ.2518 พายุดีเปรสชันพาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน จนเป็นเหตุให้น้ำป่าสักไหลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ, พ.ศ.2521 พายุ “เบส” และ “คิท” พาดผ่าน รวมไปถึงปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลบ่า ทำให้ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ถูกน้ำท่วม

พ.ศ.2526 น้ำท่วมรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพัดผ่านภาคเหนือและภาคกลางช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ประกอบกับมีพายุ หลายลูกพัดผ่านกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคมวัดปริมาณฝนทั้งปี 2,119 ม.ม. รถกับเรือใช้เส้นทางเดียวกัน

พ.ศ.2533 เดือนตุลาคม พายุโซนร้อน “อีรา” และ “โลล่า” พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ถึง 617 ม.ม. เกิดน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30-60 ซ.ม. ในเขตมีนบุรี หนองจอก บางเขน ดอนเมือง บางกะปิ พระโขนง ลาดกระบัง ลาดพร้าว บึงกุ่ม และปริมณฑล โดยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน

พ.ศ.2537 เกิดพายุฝนร้อนถล่มกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อ 7-8 พฤษภาคม วัดปริมาณฝนมากที่สุดที่เขตยานนาวา 457.6 ม.ม. เฉลี่ยทั่วเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณน้ำฝน 200 ม.ม. มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เรียกกันว่า “ฝนพันปี” เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่

พ.ศ.2538 ฝนตกในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน เนื่องจากพายุหลายลูกผ่าน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมีฝนตกหนักช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงจนล้นคันป้องกันริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำ ขณะที่น้ำเหนือหลากท่วมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี หมู่บ้านไวท์เฮ้าส์ ตอนเหนือของกรุงเทพฯ นาน 2 เดือน

พ.ศ.2539 ฝนตกจนเกิดน้ำท่วมขังตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม, พ.ศ.2549 เกิดอุทกภัยใน 47 จังหวัด และ พ.ศ.2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่นับเป็นมหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนข้ามพ้นสู่ปี พ.ศ.2555 น้ำจึงลด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน