ใบเสมา
คติ – สัญญลักษณ์สถาปัตยกรรม
เครื่องหมายทาง ภูมิสถาปัตยกรรมชนิดหนึ่งที่ใช้บอกแนวเขต ขอบเขต ความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่ที่ใช้ ทำสังฆกรรมในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท(โดยเฉพาะในประเทศไทย) คือ ใบเสมา
เสมาหรือสีมา แปลตรงๆ ก็คือ เขตแดนที่กำหนดไว้ทำสังฆกรรม มีชื่อเรียกกันตามภูมิประเทศที่แตกต่างกัน และเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ พัทธสีมาหรือพัทธเสมา
คามสีมา คือ สีมาที่กำหนดขึ้นโดยในแนวเขตของหมู่บ้านที่มีผู้นำหรือผู้ใหญ่บ้านปกครองอยู่ และแบ่งเป็นประเภทย่อย 2 ประเภท คือ
ก.ปกติ คามสีมา คือเขตของหมู่บ้านที่ปกครองโดยผู้ใหญ่บ้านหนึ่งคน
ข.วิสุงคามสีมา หรือวิสุงคามเสมา คือเขตหนึ่ง (มีขนาดใหญ่มาก) ที่พระราชาพระราชทานพื้นที่ส่วนหนึ่งในคามสีมานั้นให้ โดยเฉพาะ

ใบเสมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
อุทกุกเขปสีมา คือแนวเขตสมมติในแม่น้ำ ทะเลตามธรรมชาติ ซึ่งกำหนดขึ้นให้เป็นแนวเขตทำสังฆกรรม มีขนาดแค่ชั่ววัก น้ำสาด
สัตตัพภันตรสีมา คือ พื้นที่บนบก แต่อยู่ในป่าหรือเขตที่มิได้มีบุคคลหนึ่งใดปกครอง ครอบครองหรือเป็นเจ้าของ มีบริเวณกว้างขวางที่ยึดเอาว่าพื้นที่จะกว้างเท่ากับแนวเขตที่ดินห่างจากพระภิกษุองค์หนึ่งที่นั่งนอกที่สุดถึง 98 เมตร
เมื่อบรรยายถึงขอบเขตของคำว่า เสมา หรือสีมา การที่จะแสดงขอบเขตของเสมาหรือสีมา ก็ต้องมีเครื่องหมายที่ชาวพุทธเถรวาทไทยเรียกกันก็คือ ใบเสมา (อันเป็นส่วนหนึ่งของงานทางภูมิสถาปัตยกรรม)
ใบเสมาเป็นรูปใบไม้ชนิดหนึ่งที่มีหนามแหลมที่ใบโดยรอบ ดินแดนทางอีสานของไทย ต้นเสมาที่มีใบเป็นหนามแหลมนี้จะนำมาปลูกเป็นรั้วเพื่อป้องกันการบุกรุกของทั้งคนและสัตว์
ดังนั้น เมื่อจะแสดงสัญลักษณ์ของเขตแดนในงานสถาปัตยกรรมจึงเอารูปของใบเสมามาใช้บอก และในความเชื่อที่ตามมาก็คือ หนามแหลมนั้นก็คือตัวป้องกันการบุกรุก
เพราะในขณะที่พระภิกษุกำลังทำสังฆกรรมนั้น ต้องห้ามคนสัตว์เข้าไปในเขตสังฆกรรมเป็นอันขาด
รูปแบบของใบเสมาธรรมชาติจึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ออกแบบนำมาเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาและพัฒนาเป็นรูปทรงที่งดงาม
ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์