ม้า

คติ – สัญญลักษณ์สถาปัตยกรรม

สัตว์ในความคิดของศิลปินชาวจีนที่สวยงามที่สุด คือม้า เพราะในตัวของม้าไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่เกินความจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต

ม้า ไม่มีเล็บ เขา เขี้ยว หรืออวัยวะใดที่ใช้เป็นอาวุธในการทำร้ายสัตว์อื่นหรือแม้แต่ป้องกันตัวเอง

รูปม้าในพุทธศาสนามหายานเป็นสัญลักษณ์บางประการในทางศรัทธาหรือความเชื่อ

เรื่องราวทางศาสนาทั้งฮินดู พุทธ และแม้อิสลามก็มีการพาดพิงไปถึงม้าในแง่มุมต่างๆ และเป็นตัวแทนของคติหรือสัญลักษณ์บางประการ

ม้าตัวแรกที่จะเอ่ยถึงคือ ม้าอุจฉัยศรพ เป็นม้าในเทพนิยายทางฮินดู เกิดขึ้นจากการกวนเกษียรสมุทรที่เป็นพิธีกรรมเพื่อการแสวงหาอายุวัฒนะคือ ความไม่ตาย เป็นม้าที่พระอาทิตย์นำไปเป็นม้าทรงสำหรับขับรถรอบโลก เปรียบได้กับการเคลื่อนที่ที่ตรงต่อเวลา สม่ำเสมอ

เรื่องของม้าในพุทธศาสนามี 2 แบบ ม้าตัวแรกที่จะกล่าวถึงคือ ม้ากัณฐกะเป็นม้าทรงที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้เป็นพาหนะหนีออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ในตอนเที่ยงคืน เพื่อออกบรรพชาเป็นนักบวชที่นำไปสู่การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และเล่ากันว่าม้ากัณฐกะเป็นม้าที่เกิดร่วมเวลากับพระพุทธเจ้าประสูติ

สัญลักษณ์นี้จึงนำมาใช้ในพิธีกรรมบวชเณรของชาวไทยใหญ่ อันเป็นสัญลักษณ์ของความปรารถนาที่จะให้การบรรพชานี้เป็นหนทางพาเณรไปสู่ความพ้นไปจากสังสารวัฏ

ความเชื่อทางพิธีกรรมเช่นเดียวกันนี้พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เช่น วัชรยานหรือมนตรยานในเขตทิเบต ภูฏาน ใช้รูปม้าประดับอยู่ในธงสีต่างๆ โดยมีช่อดอกไม้หรือสัญลักษณ์อื่นที่หมายถึงความสุขแขวนไว้ในที่สูงที่ให้ลมพัดธงนี้ให้ปลิวสะบัด อันเป็นสัญลักษณ์ของการนำพาธรรมะหรือมงคลแก่ชีวิตไปสู่สรรพสัตว์ทั้งปวง

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน