ลายดอกพุดตาน

คติ – สัญญลักษณ์สถาปัตยกรรม

ลวดลายงานตกแต่งในสถาปัตยกรรมไทยประเพณีที่นำเอาธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นลวดลายที่มาจากพรรณไม้หรือดอกไม้ที่เชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคล

ลวดลายของดอกไม้เหล่านั้นที่พบเห็นกันบ่อยก็คือ ดอกบัว ดอกพุดตาน ดอกสี่ทิศ เป็นต้น ดอกพุดตานและดอกสี่ทิศก็มักจะนำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วทำเป็นลวดลาย อาจจะเป็นทั้งภาพวาดและปูนปั้นประดับไว้ในส่วนของฐานอาคารบ้างหรือประดับที่ขอบมุมของงานทางสถาปัตยกรรมบ้าง

ดอกพุดตานนั้นเป็นดอกที่ถือกันว่าเป็นดอกไม้มงคลชนิดหนึ่ง เนื่องจากในธรรมชาติของดอกไม้ชนิดนี้จะเปลี่ยนสีไปตามเวลาตลอดวันจากสีขาวไปสู่สีชมพูแล้วแดงในเวลาเย็น อันเป็นสัญลักษณ์ของความงามที่เปลี่ยนไปตามเวลา

ส่วนดอกสี่ทิศ ที่นำรูปแบบมาเป็นดอกไม้มงคลแล้วเรียกใหม่ว่า ประจำยาม หมายถึงความท้าทายในความงดงามในการที่จะเบ่งบานทุกกาลเวลา

ทางสถาปัตยกรรมประเพณี เราจะได้ยินชื่อว่า พุดตาน ปรากฏอยู่ที่เรียกว่า พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ซึ่งหมายถึงบัลลังก์ของพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้สำหรับงานในพระราชพิธีอันสำคัญ

คำว่า พุดตานกาญจนสิงหาสน์ หมายถึงพระที่นั่งทองคำอันงดงามของ พระราชาผู้เป็นใหญ่ เมื่อที่ใดมีพระที่นั่งนามพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ที่นั่นจะต้องเรียกว่า พระราชวัง อันหมายถึงเป็นที่อยู่ของพระเจ้าแผ่นดิน

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน