ดาวเพดาน

คติ- สัญญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

บนเพดานโบสถ์หรือวิหารของพุทธศาสนาในไทยมักจะมีงานตกแต่งทางสถาปัตยกรรมเพดานแบบหนึ่ง เป็นรูปทรงกลมบ้าง สี่เหลี่ยมจัตุรัสบ้าง วงเดียวบ้าง หลายวงบ้าง เรียกกันว่า “ดาวเพดาน” ตามที่เห็นในภาพจากเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ดาวเพดานนี้มักจะทำด้วยไม้แกะสลักเป็นลวดลายตามขอบรูปที่ลดหลั่นกันหลายชั้นหลายเชิงในพื้นที่ส่วนกลางนั้น เป็นรูปดาวหลายแฉก เพดานโบสถ์หรือวิหารเหล่านี้มักจะเป็นสีแดง ทำให้เข้าใจกันได้ว่า ช่างไทยมองท้องฟ้าเป็นสีแดง

ความหมายของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทดาวเพดาน หมายถึงดวงดาวบนท้องฟ้า ขณะเดียวกันอาจจะหมายถึงจักรวาลอื่นๆ อีกด้วย ตามความเชื่อบางครั้งว่า จักรวาลนี้ซ้อนทับกันอยู่หลายระดับ

ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายตันตระยานหรือวัชรยานก็มีงานตกแต่งทางสถาปัตยกรรมที่มักจะเขียนเป็นภาพติดผนังหรือบนแผ่นฝ้า มีรูปแบบเช่นเดียวกันกับ “ดาวเพดาน” แต่เรียกว่า มันดาละ

คติของมันดาละทางมหายานที่เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้นได้บำเพ็ญบารมีมานับอสงไขย ดังนั้นเมื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว มิได้หมายถึงการดับสิ้นไป หากแต่ยังคงสั่งสอนเวไนยสัตว์อยู่ในที่ที่หนึ่ง

มันดาละก็ดี ดาวเพดานก็ดี คือสัญ ลักษณ์ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตที่ยังคงมีคำสั่งสอนปรากฏอยู่ และปรากฏอยู่ในเฉพาะของพื้นที่ที่ใช้ปฏิบัติ “ธรรมเนียมสงฆ์”

ผู้ที่ปฏิบัติพิธีกรรมอยู่นั้น ปฏิบัติพิธีกรรมภายใต้พระพุทธเจ้าผู้ประทับอยู่ในที่ที่นั้น

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน