แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร

คติ – สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรม

คติ สัญลักษณ์อันหลากหลายของ “แม่น้ำ” ที่ปรากฏอยู่ในศาสนาต่างๆ ที่อุบัติขึ้นในโลกนี้

ศาสนาอียิปต์โบราณ แม่น้ำเป็นแดนกั้นระหว่างโลกมนุษย์กับแดนมรณะ เทพอนูบิส จะนำร่างของผู้ตาย (ซึ่งเดิมเป็นฟาโรห์) ส่งต่อให้เทพ ไอซิส นำร่างนั้นข้ามแม่น้ำ (ไนล์) ไปส่งให้เทพโอซิสพิพากษา ว่าจะได้ไปอยู่ ในสวรรค์อันเป็นนิรันดร์ หรือไม่ (และในแม่น้ำนั้น จะมีจระเข้คอยแย่งร่างของผู้ตายไปกินเป็นอาหาร)

ศาสนาพราหม์หรือฮินดู แม่น้ำคงคาคือแม่น้ำที่ไหลผ่านศีรษะหรือออกจากมวยผมของพระศิวะผู้ที่ได้อาบน้ำในแม่น้ำคงคาเชื่อว่าชำระบาปได้

ตำนานไตรภูมิกถานั้น กล่าวถึงเรื่องราวของต้นน้ำที่มีรายละเอียดมากมาย เช่น

ณ เชิงเขาหิมพานต์มีสระน้ำจืดขนาดใหญ่เจ็ดสระ ที่สำคัญคือ สระอโนดาษ นั้น ตั้งอยู่กลางหุบเขาทั้งห้า ที่ปกปิดกันแสงแดดมิให้กระทบกับผิวน้ำ จึงทำให้น้ำในสระนั้นเย็นเยือกตลอดเวลา

สระอโนดาตนั้นมีท่าน้ำอยู่ 4 ท่า สำหรับให้สัตว์โลกทั้ง 4 คือ เทพบุตร เทพธิดา ฤๅษี และเหล่ายักษ์หรือวิทยาธร ที่ด้านข้างของสระจะมีมุขหรือปากช่อง ให้น้ำไหลออก

ทางด้านใต้ของสระอโนดาตคือ แม่น้ำที่ไหลลงเลี้ยงมนุษย์ที่เรียกว่า แม่น้ำคงคา ซึ่งในด้านที่น้ำไหลออกมาเลี้ยงมนุษย์นั้นจะมีเขาชื่อ เขาไกรลาส อันเป็นที่อยู่ของพระศิวะ จึงไปคล้องกับความเชื่อของฮินดูที่น้ำคงคาไหลผ่านเศียรของพระศิวะ

ศาสนายิว กล่าวถึงแหล่งน้ำสำคัญคือ ทะเลแดง อันเป็นพื้นที่ที่โมเสสผู้พาชาวยิวออกจากอียิปต์และถูกฟาโรห์ราเมสที่ 2 ยกทัพติดตามไปจนทัน พระผู้เป็นเจ้าจึง เปิดน้ำทะเลให้ชาวยิวหนีกองทัพของอียิปต์ และบันดาลให้น้ำท่วมทหารของราเมส จมน้ำตายจนหมด

คริสต์ศาสนา จอห์นเดอะแบบทิส ใช้น้ำจากแม่น้ำจอร์แดนทำพิธีศีลจุ่มให้ พระคริสต์ น้ำจึงเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีศีลจุ่มให้แก่เด็กแรกเกิดของคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อเป็นการล้างบาปแต่กำเนิดอันเนื่องมาจากการกระทำของอาดัมและอีฟ เมื่อต้นกาลของการสร้างโลก

ภาคพื้นสุวรรณภูมิ น้ำมีความสำคัญ ต่อชีวิต

แม่น้ำ คือ พื้นที่หรือส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่มีน้ำไหลหล่อเลี้ยงผู้คน จึงเกิดเป็น ตำนานว่า แม่น้ำ เช่นแม่น้ำโขงเกิดจากการเลื้อยตัวของพญานาค

จนในปัจจุบัน เกิดพิธีกรรมที่เรียกว่า บั้งไฟพญานาคที่เชื่อกันว่า พญานาคผู้ยังสถิตอยู่ในแม่น้ำได้จุดบั้งไฟ เพื่อขอน้ำจากพญาแถนหรือเทวดาผู้สำคัญของภูมิภาค แล้วพัฒนามาเป็นการจุดไฟบูชาพระธาตุของพระพุทธเจ้า

พุทธศาสนา แม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร เป็นคติและสัญลักษณ์ทางนามธรรมและ รูปธรรมมากมาย มีเรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำที่คงต้องยกมาเล่ากันอีกต่อไป

สิ่งที่เราจะได้ยินกันเสมอในพิธีกรรมทำบุญทำทานที่พระให้พรกันก็คือ

เปรียบการทำบุญประหนึ่งเป็นน้ำที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ทำและผู้รับ ที่สวดเริ่มต้นว่า “ยถา วารี วหา ปูรา ปริปูเรนติ สาคะรัง” ที่แปลว่า น้ำทั้งหลายย่อมไหล รวมกันสู่มหานทีที่กว้างใหญ่ย่อมยังประโยชน์แก่ผู้คนอันเปรียบเสมือนความดี ที่ได้กระทำนี้ย่อมยังประโยชน์ให้แก่ ผู้ทำบุญกุศล

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน