สราวุฒิ ศรีเพ็ชรสัย – อดิศร จิตตเสวี – เรื่อง/ภาพ

การทำประกันภัยรถยนต์ทุกวันนี้แสนสะดวกง่ายดาย นอนอยู่บ้านก็มีตัวแทนหรือโบรกเกอร์ติดต่อมา มีจยย.วิ่งมารับส่งทั้งเงิน-เอกสารพร้อมสรรพ แต่อะไรจะเกิดขึ้นหากวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุ แล้วบริษัทประกันปฏิเสธความรับผิดชอบ อ้างว่าไม่เคยได้รับเงินจากเรา

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผบช.น. พล.ต.ต.สมพงษ์ ชิงดวง รองผบช.น. พล.ต.ต.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผกก.กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น.

ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม น.ส.จุฑาภาส อังกาพย์ อายุ 37 ปี กรรมการบริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด ชาว จ.ชลบุรี ในข้อหา “ฉ้อโกงและร่วมกันฉ้อโกง” ตามหมายจับศาลแขวงเชียงใหม่ 2 หมายจับ ศาลจังหวัดบุรีรัมย์ 1 หมายจับ ศาลจังหวัดมหาสารคาม 1 หมายจับ ศาลจังหวัดเชียงราย 1 หมายจับ และศาลจังหวัดเลย อีก 1 หมายจับ รวมทั้งสิ้น 6 หมายจับ

โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ที่ลานจอดรถอาคารเดอะกั๊ม คอนโดฯ เลขที่ 567/397 หมู่ 5 ต.คลองตำหรุ อ.เมือง จ.ชลบุรี

พล.ต.ท.ชาญเทพ เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการจับกุมดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายกว่า 200 รายทั่วประเทศ ได้รับความเดือดร้อนถูกกลุ่มมิจฉาชีพฉ้อโกง โดยหลอกลวงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง โทร.ไปหาลูกค้าที่เคยทำประกันภัย และกำลังหมดอายุ เพื่อให้ต่อประกันภัย โดยเสนอส่วนลดหรือมอบของกำนัล อาทิ กล้องถ่ายรูป โทรศัพท์ เพื่อจูงใจผู้เสียหายหลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อโอนเงินเข้าบัญชี ตกรายละ 10,000-25,000 บาท แต่ไม่ได้มีการทำประกันภัยให้จริงแต่อย่างใด

โดยบริษัท ที.ไอ.เอส.ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด จะทำการออกเอกสารใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งอ้างว่าเป็นของบริษัทประกันภัยหลายแห่ง และออกใบแจ้งการโอนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายตกลงทำประกันภัยรถยนต์และได้ชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยแล้ว

แต่เมื่อถึงกำหนดรับกรมธรรม์ ผู้เสียหายไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันภัย จึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทประกันภัย จึงทราบความจริงว่าไม่มีการแจ้งขอเอาประกันภัยแต่อย่างใด จึงติดต่อขอค่าเบี้ยประกันภัยคืน แต่กลับถูกบ่ายเบี่ยงซึ่งถึงปัจจุบันมีเพียงบางรายเท่านั้นที่ได้รับเงินคืน

ต่อมาผู้เสียหายจำนวนมากร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) บริษัทโบรกเกอร์ และหน่วยงานต่างๆ พร้อมรวมตัวแจ้งเตือนในสื่อสังคมออนไลน์ หน่วยงานต่างๆ ให้ระวังตกเป็นเหยื่อ ทั้งนี้กลุ่มคนร้ายก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 58 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทุนประกันเกินกว่า 50 ล้านบาท จึงสั่งการให้บก.สส.เร่งรัดติดตามจับกุมผู้ต้องหามาดำเนินคดี

ผบช.น.กล่าวต่อว่า จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า น.ส.จุฑาภาสก่อเหตุมาตั้งแต่ปี’58 เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี แต่ยังไม่ยอมเลิกมาเปิดบริษัทใหม่กระทำความผิดซ้ำอีก โดยเพิ่มรูปแบบที่มีความซับซ้อนมากขึ้นยากต่อการสืบสวนติดตามจับกุม

“น.ส.จุฑาภาส เคยทำงานเป็นตัวแทนขายประกันภัย จึงรู้ช่องทางในการติดต่อซื้อ-ขายประกันภัย รวมถึงมีช่องทางเข้าถึงข้อมูลของลูกค้า ผู้ต้องหาได้เปิดบริษัทหลายบริษัท และเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท เพื่อให้น่าเชื่อถือว่าเป็นโบรกเกอร์ขายประกันภัย เช่น บริษัท ที.ไอ.เอส. ควอลิตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด บจก.ไอ.ซี.มอเตอร์ เซลล์ เซอร์วิส จากนั้นโทร.ไปหาเหยื่อหลอกให้ซื้อประกันภัยรถยนต์ เมื่อเหยื่อโอนเงินเข้าบัญชี ผู้ต้องหาจะถอนเงินไปใช้ โดยที่ไม่ได้เอาเงินไปทำประกัน ทำให้เหยื่อได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเมื่อรถยนต์เกิดอุบัติเหตุ” พล.ต.ท.ชาญเทพกล่าว

พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผกก.กก. วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. กล่าวว่า ชุดสืบสวนติดตามแกะรอยจากบัญชีที่ผู้ต้องหาใช้ให้เหยื่อโอนเงินเข้าไป รวมทั้งจุดที่มีความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชี จนทราบว่าผู้ต้องหาอยู่ที่ จ.ชลบุรี จึงนำกำลังลงพื้นที่ติดตามจนพบและจับกุมตัวได้

เบื้องต้นพบว่า น.ส.จุฑาภาส ถูกออกหมายจับ 6 หมาย มีผู้แจ้งความไว้ 8 คดี อยู่ระหว่างขออนุมัติหมายจับ และผู้เสียหายอีก 30-40 คน รวมตัวกันแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ที่กองบังคับการปราบปราม ผู้ที่ถูกหลอกลวง หรือจะขอคำปรึกษาได้ที่เฟซบุ๊ก “วิเคราะห์ข่าว นครบาล” เป็นเฟซบุ๊กของกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน (บก.สส.บช.น.) จากนี้จะนำตัวผู้ต้องหาส่ง สภ.เมืองเชียงใหม่ ดำเนินคดี

“การทำประกันภัยรถยนต์ลักษณะแบบนี้ ควรตรวจสอบจากตัวแทนน่าเชื่อถือ หรือติดต่อกับบริษัทประกันภัยด้วยตนเอง ไม่ควรทำประกันผ่านตัวแทนที่ไม่เคยรู้จัก โดยเฉพาะกรณีที่มีการแจกสิ่งของเพื่อจูงใจ หรือมีราคาถูกเป็นพิเศษ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อขอให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ในท้องที่เกิดเหตุ เพื่ออายัดตัวผู้ต้องหาไว้ดำเนินคดี” พ.ต.อ.พรศักดิ์กล่าว

อีกช่องทางหนึ่งที่จะตรวจสอบได้ ก็ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) โดยค้นหาจากเมนู E-Service หรือค้นหาได้จากแอพพลิเคชั่น “รอบรู้ประกันภัย” หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. โทร.1186 เพื่อจะได้ รับข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องก่อนซื้อประกันภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน