คอลัมน์ สดจากสนามข่าว

พารู้จัก‘ตำรวจไซเบอร์’ – อาชญากรรมทางเทคโนโลยีใกล้ตัวเรา เข้ามาทุกที ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะตกหรือกลายเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ การรู้เท่าทัน รับมือป้องกันและหาทางแก้ไข นับเป็นเรื่องจำเป็นของประชาชนทุกคน

ประเทศไทยมีหน่วยงานใหม่แกะกล่องของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เข้ามาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่ พี่น้องประชาชนในวันนี้เรามาทำความรู้จักกองบัญชาการไซเบอร์ หรือกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกัน

ถกร่วมกระทรวงดิจิทัลฯ

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2563 ซึ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 8 กันยายน 2563 ด้วยเหตุผลที่ในปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลอย่างกว้างขวาง หรือการทำธุรกรรมด้านต่างๆ ผ่านในระบบออนไลน์

ทั้งในรูปแบบของโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งเป็นช่องทางให้มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกระทำความผิดในลักษณะต่างๆ และมีการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ การฉ้อโกงออนไลน์ หรือเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดตามกฎหมาย กระทบสิทธิของผู้อื่น หรือความมั่นคงของประเทศ

อีกทั้งการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวมีความซับซ้อน และกระจายอยู่หลายพื้นที่ รวมทั้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงมีดำริในการตั้งกองบัญชาการไซเบอร์ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถรองรับปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง (นรต.41) เป็นผู้บัญชาการคนแรก

ติวเข้มทีมงาน

พล.ต.ท.กรไชยกล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกอบด้วย 7 กองบังคับการ ได้แก่ 1.กองบังคับการอำนวยการ มี พล.ต.ต.ชัยพงศ์ ทรงผลนภจร (นรต.42) เป็นผู้บังคับการ 2.กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (สอท.1) มี

พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง
ผู้บัญชาการคนแรก

พล.ต.ต.รณชัย จินดามุข (นรต.40) เป็นผู้บังคับการ มีเขตอำนาจรับผิดชอบ ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลกรุงเทพมหานคร 3.กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.2) มี พล.ต.ต.กานตพงศ์ ชัยรุ่งเรือง (นรต.41) เป็นผู้บังคับการ มีเขตอำนาจรับผิดชอบ ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1,2,7

4.กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 (สอท.2) มี พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง (นรต.44) เป็นผู้บังคับการ มีเขตอำนาจรับผิดชอบ ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3,4

5.กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 (สอท.3) มี พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย (นรต.44) เป็นผู้บังคับการ มีเขตอำนาจรับผิดชอบ ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5,6

6.กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 (สอท.5) มี พล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา (นรต.44) เป็นผู้บังคับการ มีเขตอำนาจรับผิดชอบ ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8,9

และ7.กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ตอท.) มี พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน (นรต.46) เป็น ผู้บังคับการ มีเขตอำนาจรับผิดชอบทั่วราชอาณาจักร

ทิศทางการบริหารงาน กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีวิสัยทัศน์ว่า “เป็นองค์กรสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมไซเบอร์อย่างมืออาชีพที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา” โดยมีหลักการทำงานที่สำคัญ ตามแนวคิด “5 ป.” ดังนี้

1.ป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ, 2.ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วราชอาณาจักรด้วยความมีสมรรถนะสูง, 3.ปฏิบัติการข่าวสารอาชญากรมทางเทคโนโลยีในเชิงบูรณาการอย่างเป็นระบบ, 4.เปิดเผยผลงานสู่สาธารณะและเชื่อมโยงสู่การแก้ปัญหาภาครัฐตามหลักธรรมาภิบาล, 5.ปฏิรูปการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสู่คุณภาพชีวิตของประชาชน

ภาพบน – กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ภาพล่าง – ผู้บังคับบัญชา

“ตอนนี้เราอยู่ระหว่างสร้างบ้านแปลงเมือง การจัดหาเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนการคัดสรรบุคลากรเข้ามาในสังกัด ซึ่งเบื้องต้น ในช่วงประมาณ เม.ย. 2564 จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมปฏิบัติหน้าที่ กว่า 1,000 นาย โดยหลังจากนั้น จะเร่งดำเนินการอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ พร้อมนำความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ในการทำงาน ด้านการสืบสวนสอบสวน

ประกอบกับพัฒนานวัตกรรม แพลตฟอร์มด้านการป้องกันและการรับแจ้งความ ซึ่งดำเนินการควบคู่กับงานด้านการปราบปรามโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามพนันออนไลน์, การฉ้อโกงออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบกับประชาชนโดยตรง รวมถึงการประสานการทำงานกับหน่วยงานข้างเคียง อาทิ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสนับสนุนข้อมูล การพัฒนาบุคลากรและการตรวจพิสูจน์หลักฐานดิจิตอล ตลอดจนความร่วมมือในด้านต่าง ๆ กับนานาประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอิสราเอล เป็นต้น” พล.ต.ท.กรไชยกล่าว

ผบช.สอท.คนแรก ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีเป้าหมายและความมุ่งมั่น ที่จะเป็นองค์กรสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมไซเบอร์อย่างมืออาชีพที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทรา ตามคำขวัญมุ่งมั่นของหน่วยงาน “CYBER COP ANTI CYBER CRIMES”

 

อดิศร จิตตเสวี
เรื่อง/ภาพ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน