สดจากสนามข่าว

พุฒิสรรค์ แก้วบัวดี, พนม คงเจริญ กฤษณ์ สนใจ, ทวีศักดิ์ เดชชู เรื่อง/ภาพ

เป็นปัญหาหมักหมมมานาน สำหรับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในตัวอาคาร โดยเฉพาะอาการเก่าแก่ที่ก่อสร้างก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยของอาคารสูงจะมีผลบังคับใช้ เมื่อไม่มีความผิดตามกฎหมาย จึงอยู่ที่เจ้าของอาคารแต่ละแห่ง จะดำเนินการติดตั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่พักอยู่

รวมถึงการตรวจสอบความปลอดภัย ของอาคารโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ

ตี 3 วันที่ 3 เม.ย. สน.พญาไท รับแจ้งเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในอาคารราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ เลขที่ 488/18 ซอยเพชรบุรี แขวงถนนเพชรบุรี เขตพญาไท กรุงเทพฯ จึงประสานรถน้ำดับเพลิงจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าสกัดเพลิง และรีบนำกำลังรุดไปตรวจสอบพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยแพทย์กู้ชีพ และอาสาสมัครกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู

ที่เกิดเหตุเป็นอาคารที่พักสูง 15 ชั้น กลุ่มควันพวยพุ่งมาจากชั้น 6 ผู้พักอาศัยติดค้างอยู่ด้านบนเปิดไฟฉายและแสงไฟจากโทรศัพท์มือถือเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือ ท่ามกลางความโกลาหลกลางดึก เจ้าหน้าที่ต้องประกาศให้ผู้อยู่ด้านบนหมอบก้มต่ำ นำผ้ามาชุบน้ำปิดจมูก แล้วให้ออกมาริมระเบียง

เจ้าหน้าที่จัดชุดช่วยเหลือขึ้นไปด้านบนช่วยเหลือผู้ติดค้าง เจ้าหน้าที่อีกชุดนำเครื่องระบายควันไปช่วยระบายควันออกจากตึก มีผู้บาดเจ็บจากการสำลักควันหลายราย เจ้าหน้าที่จึงเร่งช่วยเหลือนำส่งร.พ.พญาไท และร.พ.ใกล้เคียง

หลังเพลิงสงบตำรวจพบศพ นายพีรณัฐ อินวกูล หรือน้องพี อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำลักควันเสียชีวิตอยู่ภายในห้องพักชั้น 12 ขณะที่ นายเมทิพย์ รอดพิมพ์ อายุ 46 ปี นายมานพ สุขสวัสดิ์ อายุ 41 ปี ไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนผู้บาดเจ็บมีทั้งหมด 61 ราย

ต่อมาเวลา 07.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่พบว่าต้นเพลิงเกิดจากห้องรวบรวมสายไฟและสายเคเบิลภายในอาคาร หรือห้องชาร์ป ซึ่งอยู่บริเวณชั้น 2 ก่อนลุกลามต่อเนื่องไปจนถึงชั้น 14 ของอาคารดังกล่าว

อุปสรรคสำคัญของการทำงานครั้งนี้ พบว่าอพาร์ตเมนต์ตั้งอยู่ในซอยแคบ ทำให้รถกระเช้าซึ่งมีขนาดใหญ่เข้าไปได้ยาก ต้องใช้รถขนาดเล็กเข้าไปดับไฟ ขณะเดียวกันได้ แจ้งขอเฮลิคอปเตอร์ ร.พ.ตำรวจ เข้าช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่บริเวณชั้นบนอีกทางหนึ่ง แต่บนดาดฟ้าของอาคารไม่มีลานจอดเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยลำเลียงประชาชนจากชั้นบนออกจากอาคารได้

จากการตรวจสอบทราบว่าอาคารขออนุญาตก่อสร้างถูกต้องตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ก่อนประกาศบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบดับเพลิงและป้องกันอัคคีภัยของอาคารสูง จึงอาจยังไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่พร้อมมากนัก และยังมีการต่อเติมผิดกฎหมายในชั้น 13-14 ทั้งที่ขออนุญาตแค่ 12 ชั้น

นายธีรยุทธ ภูมิศักดิ์ ผอ.เขตราชเทวี กล่าวว่า จากการตรวจสอบของสำนักงานเขต เมื่อเดือนพ.ย.2560 พบว่าอาคารติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัย และระบบป้องกันอัคคีภัยไว้แล้วถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจจะไม่สมบูรณ์เพราะโครงสร้างอาคารสร้างมาก่อน แต่ปรับปรุงตามที่กฎหมายบังคับแล้ว อุปสรรคครั้งนี้เกิดขึ้นจากต้นเพลิงอยู่ที่ชั้น 2 ตรงช่องเดินสายไฟ ทำให้ควันพุ่งไปที่ชั้น 13 ทันที และควันขยายวงกว้างทั่วชั้น 13 ก่อนกดตัวให้ต่ำไล่ชั้นลงมา ดังนั้น ผู้ที่อยู่ชั้นล่างๆ จึงหนีเอาตัวรอดได้ ส่วนผู้ที่อยู่ชั้น 9-11 บาดเจ็บสำลักควัน ขณะนี้ยังไม่หาคนผิด แต่เร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้พักอาศัยให้ดีที่สุด

ด้านตัวแทนบริษัท ราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ จำกัด เจ้าของอาคารระบุว่า ตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารอยู่เสมอ ยืนยันว่าจะดูแลผู้บาดเจ็บ และครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่

นายวรุต พูลผล อายุ 29 ปี หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า อาศัยอยู่ภายในราชเทวีอพาร์ทเม้นท์ ชั้น 4 มา 4 ปีแล้ว ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาก่อน โดยในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เกิดขึ้นประมาณ 02.00 น. กำลังเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนที่อยู่ภายในอพาร์ตเมนต์เดียวกัน จู่ๆ ได้ยินเสียงเหมือนประกายไฟดังขึ้นบริเวณตรงข้ามห้อง จึงเดินออกไปดูพบว่า มีประกายไฟเกิดขึ้นบริเวณห้องควบคุมไฟ จึงลงไปข้างล่างเพื่อแจ้ง รปภ.ให้ทราบ

ขณะเดินกลับขึ้นห้องพบว่าบริเวณทางเดินมีควันไฟจำนวนมาก จึงบอกกับเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกันผ่านไมค์ในเกม และตะโกนบอกทุกคนในบริเวณนั้นให้หนีออกมา พร้อมโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าหน้าที่มาให้ความช่วยเหลือ

นายสุเมธา ศรีอุทธา อาจารย์แผนภาษาอังกฤษ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อาจารย์ของน้องพี ให้สัมภาษณ์ว่า หอพักหลังนี้เป็นหอพักที่มีนักเรียนเตรียมอุดมฯ และนักเรียนใกล้เคียงมาพักอาศัยอยู่กันจำนวนมาก นักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนอยู่ต่างจังหวัด

“อยากจะให้เจ้าของอาคารต่างๆ มองเห็นถึงความปลอดภัย และมองถึงอนาคตของเด็กที่จะเจริญเป็นประโยชน์ของชาติ อยากให้เจ้าของสถานที่พักต่างๆ ที่มีนักศึกษามาพักอาศัยให้มีการกวดขันรัดกุมกว่านี้หน่อย ขนาดเกิดเหตุระบบแจ้งไฟไหม้ก็ไม่ดัง นอกจากนี้อยากจะขอฝากถึงผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ช่วยกวดขันอาคาร สถานที่พัก คอนโดฯ ที่พักอาคารสูงต่างๆ กวดขันระบบเตือนภัยให้มากกว่านี้ อย่าให้เหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเลย” นายสุเมธากล่าว

เป็นเรื่องที่ทางกทม.ในฐานะผู้รับผิดชอบทั้งดูแลการก่อสร้างอาคารและการดับเพลิง ต้องนำไปเป็นกรณีศึกษา ว่าป้องกันอย่างไรต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน