ทะลุคน ทะลวงข่าว

 

ท่ามกลางกระแสทักถาม รัฐบาลโดย พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจกแจงมาตรการเพิ่มรายได้ 1,500-3,000 บาทแก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ มอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท จำนวน 3,000 บาทต่อคน และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน

ระบุว่า รัฐบาลบริหารประเทศโดยมองทุกมิติอย่างรอบด้าน จึงออกมาตรการนี้ควบคู่ไปกับมาตรการทางเศรษฐกิจอื่นที่จะช่วยปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบในระยะยาวซึ่งต้องใช้เวลา

แม้รัฐบาลจะดูแลเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจได้ แต่ก็ยังคงมีความเปราะบางและอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้มีรายได้น้อย จึงต้องการเพิ่มรายได้ให้ครอบคลุมผู้มีรายได้น้อยทั้งหมด รวมถึงผู้ที่อยู่นอกภาคการเกษตรหลังจากที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว

โฆษกรัฐบาลระบุด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำชัดเจนว่ามาตรการนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ให้ครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ใช่การให้เงินช่วยเหลือแบบรายเดือน ซึ่งมีผลดีคือจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบและประชาชนไม่เป็นหนี้เพิ่ม อีกทั้งรัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยไปขึ้นทะเบียน เพื่อต่อยอดไปสู่มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ให้ตรงจุดอย่างแท้จริง

ทั้งว่า แตกต่างจากประชานิยมในอดีต ที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบสะเปะสะปะ ไม่มีการตรวจสอบรายได้ วันนี้รัฐบาลให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง จึงทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

โฆษกรัฐบาล คสช. ก้าวหน้ามาจากโฆษกกองทัพบก โฆษกศอ.รส. รวมถึงเป็นโฆษก ศอฉ. ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. 2553

27 ก.ย. 59 มาตรา 44 ส่งขึ้นรักษาราชการในตําแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์อีกตําแหน่งหนึ่ง

กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลไม่ทำเช่นนี้วงจรปัญหาแบบเดิมก็จะเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซาก ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดำเนินการมาก่อนหน้า

 

แนวหนุนมาทันทีจากพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของรายการ “เช็คช่วยชาติ” จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลมีสิทธิทำได้ เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้โงหัวขึ้น ประชาชนมีกำลังซื้อ

ชี้ว่า เวลานี้คนจนลำบาก เกษตรกรขายข้าวได้ราคาตก ทำรายได้ลดลง หากปล่อยให้ตายแห้งไปก็ฟื้นยาก เหมือนคนจมน้ำ ช่วยขึ้นมาตอนนี้ก็ยังไม่ตาย แค่สำลักน้ำเท่านั้น ถ้าปล่อยไว้จนหมดสติ แล้วพาไปรักษา ก็เสียค่าใช้จ่ายมากและฟื้นตัวยาก จึงคิดว่ารัฐบาลคงคิดว่าเหมาะสมแล้ว เพราะเป็นการช่วยให้คนมีอาชีพ

ระบุ สิ่งที่รัฐบาลช่วย ไม่ได้ช่วยแค่คนจนรายละ 1,500-3,000 บาท แต่ยังทำให้บริษัทขนาดเล็กอยู่ได้ ไม่เกิดสภาพไม่คล่องที่ต้องไปกู้เงินจนเกิดเป็นหนี้เน่า

ส่วนจะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้หรือไม่นั้น แต่ละนโยบายรัฐบาลจะรู้ดีกว่าคนอื่นว่าควรทำเมื่อไหร่ เพราะมีตัวเลขทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว และคงไม่เกี่ยวกับว่าเป็นการให้ของขวัญอะไร ปีนี้แล้งมาก ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ อย่างไรก็ตามแต่ละนโยบายก็ไม่มีใครเห็นพ้องกันหมด

ทายาททางการเมืองรุ่นที่ 3 ของตระกูลไกรฤกษ์ เกิด 14 ธ.ค. 2499

สำเร็จปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทจากประเทศออสเตรเลีย

อดีต รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และส.ส.พิษณุโลกหลายสมัย

ถาม ถือว่าการช่วยเงินคนจนครั้งนี้เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่

เลขาธิการ ปชป. ว่า แล้วแต่คนจะมอง ข้อสำคัญคือเงินต้องให้กับคนที่ต้องการที่สุด และให้ถูกจังหวะ

 

แย้งมาจาก พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงานและรมช.คลัง สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชี้รัฐบาลแจกเงินของขวัญปีใหม่อาจสูญเปล่า ซ้ำรอยปชป.

กล่าวว่า การแจกเงินในแบบนี้ แม้ว่าจะเป็นความพยายามของรัฐบาลที่พยายามจะช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบาก แต่จะไม่ได้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมยังแย่อย่างมากจากการลงทุนที่หดหาย และการส่งออกที่ลดรายได้ของประเทศหายไปมาก

“เศรษฐกิจที่แท้จริงจะต้องแก้ในภาพรวมของทั้งประเทศมากกว่าการแจกเงินให้กับประชาชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำไปแล้วสูญเปล่า”

กล่าวอีกว่า รัฐบาลน่าจะเรียนรู้จากบทเรียนการแจกเงินสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ไม่เกิดประโยชน์เลย แถมมีคำถามอีกว่า การแจกเงินแบบนี้เป็นประชานิยมหรือไม่ และทำให้ประเทศเสียหายด้วยหรือไม่ อีกทั้งจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เพราะผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ ที่เป็นเกษตรกรไม่ได้รับเงินในส่วนนี้

ระบุ การใช้งบประมาณทั้งหมด 12,759 ล้านบาท เพื่อแจกให้ประชาชนบางกลุ่มจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะประชาชนที่ยังลำบากและไม่ได้รับจะรู้สึกถูกทอดทิ้งเพราะไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ ดังนั้น จึงควรใช้เงินนี้กับโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกภาคส่วนให้มากที่สุด

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ถ้ารัฐบาลแจกเงินประชาชนแล้วประเทศเจริญ รัฐบาลคงไม่ต้องมาคิดนโยบายและสร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านต่างๆ ให้กับประเทศแล้ว รัฐบาลควรพัฒนาแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในระยะกลางและระยะยาว เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องให้ประชาชน ดีกว่านโยบายที่ให้ผลแค่ระยะสั้นแบบนี้

อดีต รมช.คลัง และรมว.พลังงาน ทั้งเป็นทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ และปริญญาโทการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากนักธุรกิจสนับสนุนทางการเงินให้พรรคการเมือง มาลงสนามเอง

ย้ำ บทเรียนก็มีแล้ว รัฐบาลควรคิดให้เบ็ดมากกว่าที่จะให้ปลา เพราะประชาชนยังนำไปหากินในอนาคตได้

วิพากษ์ต่างมุมจาก 2 คนแรก ว่าด้วยมาตรการของขวัญ 1,500-3,000 บาทจากรัฐบาลคสช.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน