ทะลุคน ทะลวงข่าว

ด้วยมติเอกฉันท์ 228 เสียง 3 วาระรวด สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่) ให้บังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป

แก้ไขใน 2 ประเด็น คือ 1.การเพิ่มข้อความใหม่ในวรรคสาม ของมาตรา 2 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี 2.การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ กลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้งหนึ่ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ขึ้นทูลเกล้าฯ วันที่ 8 พ.ย.2559 ซึ่งอยู่ระหว่างในพระราชอำนาจที่ทรงพิจารณาวินิจฉัย ภายใน 90 วัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักราชเลขาธิการแจ้งมายังรัฐบาลว่า มีข้อสังเกตบางประการ สมควรที่รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ

ประธาน สนช. พรเพชร วิชิตชลชัย ระบุเหตุที่ต้องพิจารณา 3 วาระรวด เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ สนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน และได้เชิญตัวแทนจาก คสช. และ ครม. ที่มีอำนาจเต็มร่วมประชุมด้วย

กล่าวด้วยว่า สำหรับเนื้อหาการแก้ไขนั้น เป็นขั้นตอนในการขอรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทูลเกล้าฯ กลับคืนมาแก้ไข จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้ขอรับร่างที่ทูลเกล้าฯ ไปกลับคืนมาเพื่อแก้ไขตามพระราชกระแสรับสั่ง

ประธาน สนช.ระบุ เชื่อว่าขั้นตอนหลังจากนี้จะไม่กระทบต่อกรอบระยะเวลาในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติบังคับใช้อย่างเป็นทางการถึงจะเริ่มต้นนับหนึ่ง ขณะนี้ได้ประสานกันเป็นการภายในเพื่อขอร่างมาให้ สนช.ศึกษาล่วงหน้าอย่างไม่เป็นทางการก่อน เป็นการขอรู้ข้อสอบ หากมีความเห็นอย่างไรก็อาจจะส่งสัญญาณไปให้ กรธ.ก่อนได้

วัย 68 ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนติบัณฑิตไทยจากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และปริญญาโทกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฏีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 4 และที่ปรึกษากฎหมายของ คสช.

ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนได้รับเลือกเป็นประธาน สนช. เมื่อ 8 ส.ค. 2557

 

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงความจำเป็นแก้ไขให้เป็นไปตามข้อสังเกตที่พระองค์พระราชทานเท่านั้น

ทั้งนี้ สำนักราชเลขาธิการแจ้งมายังสำนักนายกฯ ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้ปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ใน 3-4 มาตรา จึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว กลับมาแก้ไขได้ และนำกลับขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปอีกครั้งหนึ่ง

โดยมาตราที่จะแก้ไขอยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์ทั้งหมด ปรับเพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยสรุปคือ การที่ที่ประชุมร่วมครม. และคสช. มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ก็เพื่อให้สามารถขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้ว กลับมาปรับปรุงบางมาตราตามที่แจ้งมา ซึ่งมีไม่กี่มาตรา

ย้ำว่าสิ่งที่จะดำเนินการไม่เกี่ยวพันกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ โครงสร้างทางการเมือง การเลือกตั้ง หรือกระบวนการใดๆ ทางการเมืองทั้งสิ้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับหมวดพระมหากษัตริย์ และเข้าใจว่า เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วจะเข้าเงื่อนไขเดิม ตามกรอบระยะเวลา 90 วัน นับจากที่นายกฯ ได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขครั้งใหม่แล้วขึ้นทูลเกล้าฯ

วัย 65 บทบาทสูงยิ่งยุค คสช. เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และเป็นหัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557

ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดีมาก เหรียญทองพระราชทาน) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทและปริญญาเอกกฎหมาย มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สหรัฐอเมริกา

จากเส้นทางอาจารย์ ผันมาทำงานการเมือง เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงเลขาธิการ ครม.

เป็นรองนายกฯ ครั้งแรกในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และล่าสุดรัฐบาล คสช.

 

มีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ.กล่าวว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามตินั้น เป็นเรื่องของนายกฯ ที่จะดำเนินการ เพราะในมาตรา 4 ที่ขอแก้ไขมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ดให้เป็นข้อความใหม่นั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ภายใน 90 วัน ให้นายกฯ ต้องขอรับพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น

เปิดเผยด้วยว่า ในกระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อจากนั้น คือ นายกฯ ต้องดำเนินการ ไม่เป็นหน้าที่ของกรธ. เพราะหน้าที่ของ กรธ. นั้นเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ที่ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติให้นายกฯ ดำเนินการทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

ตอนนี้ถือว่ากรธ. มีเวลาทำกฎหมายลูกมากขึ้น ถือเป็นผลดี

ส่วนจะเริ่มนับหนึ่งแล้วส่งสนช.เมื่อไหร่ ต้องขึ้นอยู่กับที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ

วัย 78 อดีตประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา รองนายกฯ และรักษาการนายกรัฐมนตรีหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทกฎหมายเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์น เมโทดิสต์ สหรัฐอเมริกา

อยู่ในวงการเมืองมาตั้งแต่รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์

เป็นที่ปรึกษากฎหมายของคณะปฏิวัติหลายยุค จนถึงยุค คสช. ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ร่วมเป็นสมาชิกคสช.ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน