บทบรรณาธิการ : มวยเด็ก

บทบรรณาธิการ – เหตุการณ์สะเทือนใจ ด.ช.อนุชา ทาสะโก นักมวยเด็กวัย 13 ปี เสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมองจากการขึ้นชกมวยนั้น ทำให้คนในสังคมกลับมาถกเถียงกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มพิทักษ์สิทธิเด็กกับกลุ่มผู้อยู่ในวงการมวย

โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติฯเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย จากฉบับพ.ศ.2542

เนื้อหาหนึ่งระบุว่า เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ห้ามทำการแข่งขันมวยไทยเด็ดขาด และหากอายุเกินกว่า 12 ปี ต้องกำหนดเงื่อนไขการชกใส่เครื่องป้องกัน

บทบรรณาธิการ : มวยเด็ก

อีกเนื้อหาหนึ่ง เกี่ยวกับการแข่งขันกีฬามวยอาชีพ กำหนดว่าห้ามมิให้ผู้จัดรายการแข่งขันกีฬามวย และนายสนามมวยอนุญาตให้เด็กมีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าร่วมแข่งขัน

การอนุญาตต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน

ความเคลื่อนไหวในการแก้ไขเนื้อหาสาระของ กฎหมายเดิมนั้น คนในวงการมวยหลายคนเห็นว่า ไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแท้จริง อีกทั้งไม่มีการทำประชาพิจารณ์

เมื่อกล่าวถึงประเด็นทางวัฒนธรรม คนวงการมวยเห็นว่า มวยไทยเป็นเรื่องต้องฝึกหัดกันตั้งแต่เด็ก แต่ต้องป้องกันการกระทบกระเทือนสมอง

ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนมองว่า ไม่ว่าจะอย่างไรกีฬามวยเด็กขัดต่อหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพราะมีความเสี่ยงต่อชีวิต หรือความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บทางร่างกาย

เมื่อพิจารณาว่าเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางของ สังคม จึงต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้มีชีวิตรอด ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกทำร้าย การล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ

เมื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าวในแง่สิทธิเด็ก แล้ว จึงเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องปรับตัวและปรับทัศนคติว่า ชีวิตและความปลอดภัยของเด็กต้องมาก่อนปัจจัยเรื่องอื่นๆ

จะต้องมีคำตอบที่แน่ชัดว่า จะทำอย่างไรไม่ให้การชกมวยเป็นอันตรายต่อเด็ก หรือมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการ ของเด็ก

เพราะถ้านับว่ามวยเป็นกีฬา สิ่งที่เด็กจะได้คือประโยชน์ต่อสุขภาพ มากกว่าเป็นโทษ

เรื่องที่ควรต้องตัดทิ้งออกไปจากวงจรมวยเด็กก่อน คือการใช้ประโยชน์จากเด็กเพื่อทำเงินจากการชกมวย

อ่านต่อข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน