แฟ้มคดี

นับเป็นคดีที่ลึกลับซับซ้อนที่รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริง

สำหรับกรณีครูจอมทรัพย์ อดีตครูแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร ที่ตกเป็นจำเลยในคดีขับรถชนคนตายเมื่อปี 2548

และเพิ่งพ้นโทษจำคุกจากคำพิพากษาศาลฎีกา

ก่อนจะเดินหน้ายื่นเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่าตัวเองตกเป็นแพะของคดี เพราะไม่ใช่คนขับรถคันดังกล่าว

พร้อมเปิดตัวผู้กระทำความผิดตัวจริง

แต่ในขณะที่สังคมกำลังโจมตีการทำงานของกระบวนการยุติธรรมนั้น

ก็มีหลักฐานใหม่เพิ่มขึ้นมา

จนตอนนี้ยังฟันธงไม่ได้ว่าครูจอมทรัพย์ อยู่ในสถานะ “แพะ” หรือ “แกะ” กันแน่

ครูรถชนจี้รื้อคดีอ้างเป็นแพะ

กรณีนี้ตกอยู่ในความรับรู้ของสังคม ก็เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูแห่งหนึ่งใน จ.สกลนคร จำเลยที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 3 ปี 2 เดือน ในคดีขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อปี 2548 ถูกจำคุกปี 2556 และได้รับอภัยโทษมาเมื่อปี 2558

เดินทางมาที่กระทรวงยุติธรรมเพื่อขอบคุณ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และ นายนิธิต ภูริคุปต์ เลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังยื่นหนังสือให้ช่วยรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่

โดยนางจอมทรัพย์เผยว่า เมื่อปลายเดือนมี.ค. 2548 ได้รับหมายเรียกจาก สภ.นาโดน จ.นครพนม ว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2548 เวลา 20.00 น. ตนขับปิกอัพอีซูซุ สีเขียว รุ่นเคบีแซด ทะเบียน บค. 56 สกลนคร เฉี่ยวชนนายเหลือ พ่อบำรุง ขณะปั่นจักรยาน เสียชีวิตริมถนน ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม

เมื่อได้รับหมายก็เดินทางไปพบพนักงานสอบสวนทุกครั้ง และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากวันเกิดเหตุตนพักผ่อนอยู่กับสามีและครอบครัวที่บ้านใน จ.สกลนคร

แต่ตำรวจก็ยืนยันมีหลักฐานพร้อมส่งอัยการฟ้องศาล พิจารณากัน 3 ศาล จนถูกตัดสินจำคุก 3 ปี 2 เดือน เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2556 และได้รับพระราชทานอภัยโทษออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2558 รวมถูกจำคุก 1 ปี 6 เดือนที่เรือนจำจังหวัดนครพนม

ทำให้ถูกไล่ออกจากข้าราชการครู จึงต้องการรื้อคดีเพื่อขอกลับเข้ารับราชการ

ต่อมามีพยานหลักฐานใหม่ ที่ พ.ต.อ.ดุษฎี สั่งการให้ดีเอสไอลงไปสอบสวนพบว่ามีนายสับ วาปี ชาวมุกดาหาร รับสารภาพว่าเป็นผู้ขับรถชนผู้ตายเอง โดยระบุว่า คืนวันเกิดเหตุขับปิกอัพอีซูซุ สีเขียว รุ่นเคบีแซด ทะเบียน บค 56 มุกดาหาร ขับชนคนตายแล้วหลบหนีไป

จากนั้นนำรถไปซ่อมและขายให้พ่อค้ารับซื้อของเก่าในราคา 2 หมื่นบาท เมื่อคดีถึงที่สุดจึงไปเข้าพบพนักงานสอบสวนสภ.นาโดน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2557 เพื่อเล่าความจริง และให้การสารภาพเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2557

ประกอบกับพยานที่เห็นเหตุการณ์อีก 2 ปาก ที่ให้การตรงกันว่าคนขับรถคันดังกล่าวเป็นชายร่างท้วม

ทั้งหมดจึงเพียงพอที่ยื่นให้ศาลรื้อคดีขึ้นมาใหม่

แฉพิรุธอื้อ-พบแก๊งรับจ้างติดคุก

โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาใหม่ โดยศาลจังหวัดนครพนมซึ่งเป็นศาลชั้นต้น นัดสอบคำให้การคดีในวันที่ 16 ม.ค. นี้ ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 9

แต่เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา ปรากฏว่าพยานที่ประกอบด้วยนายสับ วาปี ที่อ้างว่าเป็นคนขับรถชนตัวจริง และนางทัศนีย์ หาญพยัคฆ์ พยานที่เห็นเหตุการณ์ ไม่ปรากฏตัวที่ศาล

ทำให้ต้องเลื่อนการไต่สวนเป็นวันที่ 8-10 ก.พ.

อย่างไรก็ตามระหว่างที่เรื่องราวของครูจอมทรัพย์เปิดเผยขึ้นมา ทำให้สังคมต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นตอนการทำงานของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นต้นเรื่อง แม้ว่านายตำรวจเจ้าของคดี จะยืนยันหนักแน่นว่าดำเนินการไปตามพยานหลักฐานที่มี แต่ก็ไม่สามารถหยุดความเห็นของกระแสสังคมได้

จนกระทั่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ต้องสั่งการให้ พล.ต.อ. ปัญญา มาเม่น จเรตำรวจแห่งชาติ ลงมาควบคุมคดีนี้ด้วยตัวเอง พร้อมระบุว่า หากพบว่ามีขบวนการจัดฉากโดยหวังประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องแจ้งความดำเนินคดี

หลังจากที่พล.ต.อ.ปัญญา ลงพื้นที่สอบสวนทั้งหมด ก็ยืนยันชัดเจนว่าพบขบวนการรับจ้างติดคุกแทน แถมทำเป็นขบวนการ 6-7 คน ซึ่งจากการสอบสวนพ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์ อดีตส.ว.มุกดาหาร ในฐานะพยาน ก็ระบุว่า เมื่อปี 2557 หลังศาลฎีกาพิพากษาแล้ว มีบุคคลมาติดต่อขอให้รับเป็นทหาร โดยให้ ค่าจ้าง 2-3 แสนบาท

ขอให้ช่วยเหลือในคดีครูจอมทรัพย์ แต่ส.ว.คนดังกล่าวปฏิเสธ เพราะเห็นว่าศาลฎีกาพิพากษาไปแล้ว แถมยังตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่ต่อสู้ตั้งแต่ศาลชั้นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าบุคคลที่กล่าวอ้างว่าขับรถชนแทนนางจอมทรัพย์ นั้นไม่ได้มีเพียงคนเดียว และต้องตรวจสอบว่าในวันเวลาเกิดเหตุนั้น รถที่อ้างว่าขับชน อยู่กับคนที่ก่อเหตุหรือไม่

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สืบสวนจนพบพยานสำคัญ คือ นายอุบล ไชยบัน อายุ 64 ปี ชาวบ้านแก้ง ต.คำปลาหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ที่ระบุว่าซื้อรถคันนี้มาจากนายนิรันดร์ ทูนแก้ว อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.กุดเข้ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งรู้จักกับนายสับ ในราคา 33,000 บาท เมื่อประมาณปี 2547 โดยการโอนลอย มีชื่อนายสับเป็นเจ้าของ

เมื่อซื้อมาก็นำไปบรรทุกอ้อย ปุ๋ย มันสำปะหลังภายในไร่ ไม่ได้ไปโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นชื่อตน เพราะรถก็เก่ามากแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2548 ก็นำรถไปตรวจสภาพและ ต่อพ.ร.บ. เมื่อใช้ได้ประมาณ 3-4 ปีรถก็เริ่มพัง เมื่อเอาไปซ่อมช่างก็ตีราคาสูงเกินไป จึงจอดทิ้งไว้ ต่อมามีพ่อค้าของเก่าผ่านมาขอซื้อ จึงขายไปในราคา 15,000 บาท เมื่อปี 2551

“ต่อมามีผู้ชายอายุประมาณ 30 ปี มาติดต่อผมให้ช่วยหาชิ้นส่วนและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับปิกอัพคันนั้น และบอกว่าเพื่อนเขาถูกจำคุกข้อหาชนคนตาย แต่ก็บอกไปว่าขายรถคันดังกล่าวให้พ่อค้ารับซื้อของเก่าไปแล้ว จากนั้นก็ติดต่อขอให้ช่วยอีกหลายครั้ง แต่ไม่รู้จะช่วยยังไง เพราะขายไปหมดแล้ว” นายอุบลให้การ

ถือเป็นข้อพิรุธของคดีที่ต้องพิจารณา

 

เปิดคำพิพากษา 3 ศาล

สำหรับคดีนี้ศาลนครพนมมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2549 จำคุกนางจอมทรัพย์ ในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3 ปี ฐานไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวกับแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 2 เดือน

โดยพิเคราะห์จากคำให้การของพยานที่ระบุว่าให้นางจอมทรัพย์ยืมรถกระบะ ทะเบียน บค 56 สกลนคร ไปใช้ทำธุระ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2548 แต่เมื่อไปเอาคืนในวันที่ 12 มี.ค. 2548 พบร่องรอยขูดขีดที่กระโปรงรถด้านซ้ายอันเป็นรอยที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เมื่อตรวจสอบพบสีเขียวที่บริเวณตะเกียบกับบังโคลนด้านหน้ารถจักรยานของผู้ตาย ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ความเห็นว่าตรงกับกระบะที่ใช้เฉี่ยวชน

และจากคำให้การจำเลยขับรถแซงจักรยานยนต์ล้ำไปในช่องทางที่รถสวนมาโดยไม่ใช่ความระวัง ย่อมแสดงให้เห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวถูกขับมาด้วยความประมาทเลินเล่อ

ต่อมา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กลับคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่ามีพยานเบิกความว่าเห็นคนขับเป็นผู้ชาย ซึ่งไม่ตรงกับจำเลยที่เป็นผู้หญิง

รอยชนด้านหน้าซ้ายของกระบะ หากเป็นการขับแซงไปชนจักรยานที่สวนมาก็น่าจะเป็นการชนด้านขวาของรถยนต์ อีกทั้งสีเขียวที่ติดจักรยานแสดงว่าถูกชนบริเวณแผ่นป้ายทะเบียน แต่ป้ายกลับไม่มีรอยบุบ

พยานหลักฐานโจทก์ยังมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานที่ผู้ตายขับขี่หรือไม่ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา จึงเห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

เมื่อไปถึงศาลฎีกา ศาลพิจารณากลับอีกครั้ง โดยให้เป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

โดยให้เห็นผลว่าโจกท์มีประจักษ์พยานที่จดจำหมายเลขทะเบียนรถกระบะได้ชัดเจนว่า บค 56 สกลนคร เมื่อนำรถให้ ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ พบฝากระโปรงหน้าด้านซ้ายมีรอยครูด 2 ครั้ง มีทั้งใหม่ และเก่า ใกล้กับโคมไฟมีลักษณะกระทบวัตถุที่มีน้ำหนักอ่อนนุ่มเช่นส่วนใดของร่างกายมนุษย์

เช่นเดียวกับรอยสีของรถกระบะที่ติดอยู่กับจักรยานที่ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าเป็นชนิดเดียวกับป้ายทะเบียน จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนขับรถกระบะทะเบียน บค 56 สกลนคร ชนผู้ตายจริง

ที่จำเลยกล่าวอ้างว่าไม่ขับไปที่เกิดเหตุ ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างของจำเลย และญาติ ที่ง่ายแก่การกล่าวอ้าง และมีน้ำหนักน้อย

นี่คือคำพิพากษาทั้ง 3 ศาล

ส่วนที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ที่อยู่ในการพิจารณาคดีของศาลจะเป็นอย่างไร

คงต้องติดตามว่าจริงๆ แล้วเป็น “แพะ” หรือเป็น “แกะ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน