รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งขับเคลื่อนงานปรองดอง-สมานฉันท์ในช่วงโรดแม็ประยะที่ 2 ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2561

ออกคำสั่งมาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)

พร้อมตั้ง 4 คณะกรรมการย่อย ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการบริหารราชการเชิงยุทธศาสตร์

มีสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) เป็นหน่วยงานคอยประสานงานทั้ง 4 ชุด
พล.อ.ประยุทธ์ คุมทุกกลุ่มย่อย มีรองนายกฯทั้ง 6 รับผิดชอบขับเคลื่อนในแต่ละชุด

อย่างไรก็ตาม แม้จะอยู่ระหว่างการทาบทามตัวบุคคลมาร่วมทีมปรองดอง

แต่ทีมป.ย.ป.ของนายกฯที่จะเดินหน้าปฏิรูปปรองดองครั้งนี้ นอกเหนือจากคนเก่งจากภาครัฐ แล้วยังดึงคนจากภาคเอกชนร่วมทีมด้วย

โดย สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเลขานุการ ป.ย.ป. ยอมรับเตรียมบุคคลจากภาคเอกชนมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของ ป.ย.ป.หลายคน

ได้แก่ กานต์ ตระกูลฮุน อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ สมาชิกสนช. และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ สมพล เกียรติไพบูลย์ อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

เพื่อช่วยนายกฯขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 10 ประเด็นให้ออกมาเป็นรูปธรรม

กานต์ ตระกูลฮุน

วัย 62 เกิด 15 พ.ค. 2498

ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ไฟฟ้า (เกียรตินิยมอันดับ 1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปริญญาโท 2 สาขา วิศวกรรมศาสตร์ (เซรามิค) และบริหารธุรกิจ จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา

วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลูกหม้อเครือซิเมนต์ไทยตั้งแต่ฝึกงาน งานแรกเป็นนายช่างประจำโรงงานที่ทุ่งสง

เติบโตผ่านตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซรามิคซิเมนต์ไทย จำกัด และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย และกรรมการคูโบต้า คอร์ปอเรต (ญี่ปุ่น)
1 ม.ค. 2549 รับตำแหน่งซีอีโอ 10 ปี

2558 เกษียณจากเบอร์ 1 เอสซีจีมาสู่เก้าอี้กรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา การพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

ประเสริฐ บุญสัมพันธ์

ศิษย์เก่าอำนวยศิลป์ ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท บริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยยูทาห์ สหรัฐอเมริกา

CERTIFICATE IN ADVANCED MANAGEMENT PROGRAM, HARVARD BUSINESS SCHOOL มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา

วปรอ.4010 และหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารชั้นสูงรุ่นที่ 6 สถาบันพระปกเกล้า

เริ่มทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่บริษัท เอสโซ่ สแตนดาร์ด ประเทศไทย เมื่อปี 2520

ผอ.ตลาด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เมื่อปี 2524 ทำอยู่ปีเดียวก็เข้ามาทำงานในปตท. ตำแหน่งผอ.ฝ่ายปฏิบัติการขนส่ง

ก้าวสู่ตำแหน่งผอ.ฝ่ายจัดซื้อน้ำมันและสัญญา ปตท. ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านการตลาด ปตท.
รองผู้จัดการใหญ่ การตลาด ธุรกิจน้ำมัน ในปี 2535

5 ปีต่อมา เป็นผู้จัดการใหญ่ ปตท.น้ำมัน ก่อนถูกโยกให้ดูแล ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในตำแหน่ง ผู้จัดการใหญ่ ปตท. ก๊าซธรรมชาติ ในปี 2543

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) และกรรมการ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัททรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด

ปี 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสนช.

สมพล เกียรติไพบูลย์

เกิดเมื่อ 11 ก.ค. 2483

เศรษฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสหรัฐ

พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิตสาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า และวปอ.รุ่นที่ 31

ลูกหม้อกระทรวงพาณิชย์ ปี 2509 เศรษฐกรตรี กองพาณิชยกิจต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ
ผ่านตำแหน่งสำคัญ อาทิ ผอ.ศูนย์สถิติการพาณิชย์ กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ , ผอ.กองนโยบายการพาณิชย์ , ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ

2526 รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ , รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ , ผอ.สำนักงานประกันภัย

ต.ค.2529 อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ จากนั้นเป็นอธิบดีกรมทะเบียนการค้า และ อธิบดีกรมการค้าภายใน

2538 เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเกษียณ 1 ต.ค.2543

ส.ค.2552 ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอดีตส.ว.

แม้ตัวบุคคลในป.ย.ป.และคณะกรรมการย่อยทั้ง 4 ชุดจะยังไม่ลงตัว แต่นายกฯเน้นย้ำเร่งงาน ป.ย.ป.นัดดีเดย์วันที่ 1 ก.พ.นี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน