อภิปรายไม่ไว้วางใจ(ตอนแรก) : คอลัมน์ รู้ไปโม้ด โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

อภิปรายไม่ไว้วางใจ(ตอนแรก) – การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีความเป็นมาอย่างไร

สาระ

ตอบ สาระ

คำตอบนำมาจากฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า เรื่อง การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา รัฐสภานับเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญ เป็นศูนย์รวมของผู้ซึ่งประชาชนเลือกให้มาทำหน้าที่แทนตนในการออกกฎหมาย ควบคุมและตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน หลักการสำคัญของการปกครองในระบบรัฐสภา คือการถ่วงดุลอำนาจกับฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายบริหารมีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ และรัฐสภาก็มีสิทธิขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจฝ่ายบริหารได้เช่นกัน อันเป็นมาตรการที่สำคัญและเด็ดขาดซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองได้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้การบริหารราชการแผ่นดินภายใต้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน จึงหมายถึงการสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีหรือฝ่ายบริหารด้วยวิธีการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ คือ การตั้งกระทู้ถามการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในปัญหาอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และการขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล อันอาจส่งผลให้รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งได้ ซึ่งนับเป็นหลักการสำคัญอีกประการหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ให้มีการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้อำนาจเกินขอบเขตจนอาจทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

อภิปราย คือการกล่าวถ้อยคำในเชิงแสดงความคิดเห็นและปรึกษาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา โดยมีข้อบังคับการประชุมสภาเป็นกรอบกติกาบังคับการอภิปราย และมีประธานในที่ประชุมสภาเป็นผู้ควบคุมดูแลให้การอภิปรายเป็นไปโดยเรียบร้อย ตามปกติเมื่อเสร็จสิ้นการอภิปรายหรือที่เรียกว่าปิดอภิปรายแล้ว จะมีการลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งสุดแล้วแต่จะได้ระบุไว้ในญัตติที่เสนอต่อสภา เพื่อผลการอภิปรายเกิดขึ้น เช่น ลงมติไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี เป็นต้น








Advertisement

การเปิดอภิปรายทั่วไป คือมาตรการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินวิธีหนึ่ง โดยเปิดให้มีการพิจารณาและปรึกษาเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของชาติ รวมทั้งประเด็นปัญหาทางการเมืองในที่ประชุมสภา ซึ่งสมาชิกทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบในกระบวนการทางการเมืองดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องอภิปรายแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ด้วยความเป็นอิสระและเที่ยงธรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง การเปิดอภิปรายทั่วไปจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เพราะสามารถเป็นเครื่องมือเหนี่ยวรั้งและถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารให้อยู่ในภาวะสมดุลได้ดีที่สุด

การขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หรือเรียกว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หมายถึงการอภิปรายของสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยมากจะเป็นการขอเปิดอภิปรายโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน กระทำเมื่อเห็นว่าการทำงานของรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีไม่เป็นที่พอใจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติไม่ไว้วางใจได้ ถือเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลนอกเหนือจากวิธีการอื่น และถือเป็นมาตรการที่สำคัญ มีประสิทธิภาพ และเป็นวิธีที่เห็นผลชัดเจนที่สุด มีผล กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลมากที่สุด

การขอเปิดอภิปรายทั่วไปจะต้องเสนอเป็นญัตติ ญัตติคือข้อ เสนอใดๆ ที่มีความมุ่งหมายเพื่อให้สภาลงมติหรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไร ทั้งนี้ การเสนอเรื่องต่างๆ เพื่อให้ที่ประชุมสภาพิจารณานั้น จะต้องเสนอเป็นญัตติ ญัตติจึงเปรียบเสมือนกลไกอย่างหนึ่งในการดำเนินงานของรัฐสภา เนื่องจากญัตติทุกเรื่องย่อมมีจุดมุ่งหมายอยู่ในตัว อันทำให้รู้ถึงประโยชน์หรือผล กระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

ฉบับพรุ่งนี้ (12 ก.พ.) อ่านกันต่อถึงหลักเกณฑ์ในการยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน