เส้นทางของ “4 คำถาม” อันมาจากรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทำท่าว่าอาจจะเหมือนกับเส้นทางของ “ปรองดอง”

นั่นก็คือ เริ่มต้นอย่างคึกคัก และก็ค่อยหงอยเงียบไป

คงจำได้ว่าเมื่อมีการนำเสนอเรื่อง “ปรองดอง” ขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ ห้วงแห่ง “วันวาเลนไทน์”

บรรยากาศเปี่ยมด้วยความคาดหวัง

เพราะว่ามี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นตัวชูโรง

พรรคเพื่อไทยเองถึงกับออกมาส่งเสียงเชียร์ในระดับที่มอบความวางใจให้กับ “พี่ใหญ่” แห่งบูรพาพยัคฆ์

ว่าจะต้องนำพา “ปรองดอง” ประสบความสำเร็จอย่างงดงามราบรื่น

ประสานเข้ากับการตีปี๊บทะลวงจุด “การตลาด” ของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

แต่แล้วเมื่อเดินห่างจาก “วันวาเลนไทน์” ที่คาดว่าจะมีการประกาศเป็น “สัญญาประชาคม”

ในเดือนเมษายนกลับเงียบหายเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นกระทั่งมาถึงเดือนมิถุนายน

ปัจจัยอะไรทำให้กรณี “4 คำถาม” กับกรณี “ปรองดอง” จะกลายเป็นหนังม้วนเดียวกันน่าจะมาจากองค์ประกอบ 2 ประการ

องค์ประกอบ 1 คือ มาจาก “ส่วนบน”

กรณี “4 คำถาม” มีจุดเริ่มต้นจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่กรณี “ปรองดอง” คนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ตรงนี้เองที่ทำให้มีการตีปี๊บ เป่ากลอง กันอึกทึก

ขณะเดียวกัน องค์ประกอบ 1 ที่อาจทำให้ทั้ง 2 กรณีอาจจะต้อง “เหี่ยวปลาย” ไปอย่างน่าเสียดาย เป็นปัจจัยจากหน่วยงานที่รับไม้ต่อ

กรณีปรองดองเป็น “กลาโหม” กรณี 4 คำถามเป็น “มหาดไทย”

ไม่ว่ากระทรวงกลาโหม ไม่ว่ากระทรวงมหาดไทย ล้วนเป็นกระทรวงใหญ่ ระดับเกรด เอ มีกำลังพลและส่วนราชการรองรับแน่นหนา

ทั้งระดับส่วนกลาง และระดับส่วนภูมิภาค

แต่เพราะว่าเป็นหน่วยงานในแบบกระทรวงกลาโหมนั่นแหละ แต่เพราะว่าเป็นหน่วยงานในแบบกระทรวงมหาดไทยนั่นแหละ

ทำให้ยิ่งทำ ผู้คนก็เริ่มถอยห่าง

ความเป็นหน่วยราชการ ความที่อาศัยมือไม้ของข้าราชการ ไม่ว่าทหาร ไม่ว่าพลเรือน มาเป็นส่วนประกอบ คล้ายกับว่าจะสะพรึบสะพรั่ง ครบครัน

แต่ก็จากหน่วยราชการนั้นเองที่ก่อให้เกิดสภาวะแปลกแยก

ชะตากรรมของ “ปรองดอง” เป็นอย่างไร ยังไม่ปรากฏคำตอบ ชะตากรรมของ “4 คำถาม” ก็เช่นเดียวกัน

กลไกรัฐที่รองรับกระบวนการ “รัฐประหาร” คือ กระบวนการอย่างที่เรียกกันว่า “รัฐราชการ” อันเทอะทะ และดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มากมายหลายขั้นหลายตอน

“รัฐราชการ” จึงขาดความคล่องตัว และเหินห่างจากชาวบ้าน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน