คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย : เศร้ากับการรื้อบ้าน 131 ปี

เศร้ากับการรื้อบ้าน 131 ปี – เรียน บ.ก.

คอลัมน์ บ.ก.ตอบจดหมาย – เศร้าใจกับการทุบและรื้อบ้านบอมเบย์เบอร์มา ที่อายุกว่า 100 ปีใน จ.แพร่ อาคารสถานที่ของไทยหลายๆ แห่งที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานราชการ ส่วนใหญ่จะถูกรื้อในลักษณะอย่างนี้มีมาก

การกระทำต่างๆ ไม่เคยได้สอบถามชุมชนหรือผู้รู้ในท้องถิ่น หน่วยงานที่ดูแลน่าจะคำนึงถึงคุณค่าอาคารสถานที่เก่าแก่ที่ควรอนุรักษ์ อย่างน้อยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้กับคนรุ่นหลังได้ ถ้าเรือนไม้หลังนี้อยู่ในความดูแลของภาคเอกชนคงได้รับการดูแลรักษาให้คงอยู่ในสภาพที่ดี

ขอยกตัวอย่างคุ้มวงศ์บุรี ซึ่งเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนบุคคล ตัวคุ้มอายุไม่ต่างจากบ้านบอมเบย์เบอร์มา ยังคงสภาพสวยงามคว้ารางวัลอนุรักษ์ดีเด่นมาแล้ว แต่ถ้าเป็นแบบบ้านพักครูร้าง ซึ่งมีอยู่หลายพื้นที่ถ้าอย่างนั้นควรจะรื้อออกไป

เพราะส่วนใหญ่แล้วบ้านพักครูในรุ่นเก่ามักจะอยู่ห่างจากโรงเรียนที่สอน และครูแต่ละโรงเรียนจะอยู่รวมกันในบ้านพักที่ทางการสร้างให้ กาลเวลาไม้ที่สร้างบ้านก็ผุพังไป เมื่อไม่มีครูอยู่บ้านก็ร้าง เหล่าวัยรุ่นก็มักจะเข้าไปมั่วสุมสมควรที่รื้อ หน่วยงานต้นสังกัดก็ควรพิจารณาจำหน่ายออกได้

อย่าหวั่นวิตกจนเกินไปว่าถ้าให้ครูไปเช่าบ้านอยู่จะเกิดภาระเรื่องงบประมาณค่าเช่าบ้าน ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของครู ทั้งบ้านบอมเบย์เบอร์มาและบ้านพักครูร้าง คุณค่าชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว

นับถือ
คนนอก








Advertisement

ตอบ คนนอก
บ้านอายุถึง 131 ปี งดงามทุกกระเบียดนิ้ว มากด้วยคุณค่า อธิบายประวัติศาสตร์ความเป็นมาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ไม่ควรจะโดนรื้อจนพังเละเช่นนั้น อย่างที่คุณบอกนั่นแหละ ไม่สอบถามชุมชนก่อน ไม่หารือผู้รอบรู้ก่อน เป็นเรื่องที่ทุกหน่วยราชการควรหลาบจำ

 

อย่าอ้างไม่มีงบฯเลือกท้องถิ่น

เรียน บ.ก.ข่าวสด
กรณีที่รัฐบาลอ้างว่างบประมาณไม่มีในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ผมเองมองว่าท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบจ., เทศบาล, อบต. เขามีงบประมาณของเขาอยู่แล้วในการจัดการเลือกตั้ง ที่จะส่งบุคลากรของ อปท.ไปอบรม

ซึ่งตั้งไว้ทุกปีพร้อมที่จะดำเนินการเลือกตั้ง เพียงแต่ทางรัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุน ให้เงินทาง กกต.มาดำเนินการจ่ายให้ เจ้าหน้าที่ของ กกต.และเจ้าหน้าที่คุมหน่วยเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนเรื่องการพิมพ์บัตรอะไรต่างๆ อปท.เขามีงบอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง มองว่าสาเหตุที่รัฐบาลไม่อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น

สาเหตุน่าจะกลัวว่าถ้ามีการเลือกตั้งไปแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะรวมตัวกันขึ้นไปขอเรียกร้องของบประมาณ ขยับจาก 28-29% เป็น 30%

ซึ่งรัฐบาลพยายามแช่แข็งท้องถิ่น เนื่องจากไม่มีงบประมาณให้ จึงแช่แข็งท้องถิ่นให้อยู่กันอย่างนี้เพื่อไม่ให้รวมตัวกัน การที่ยังไม่มีการเลือกตั้งชาวบ้านก็เสียโอกาสในเรื่องของการพัฒนาในพื้นที่มากพอแล้ว

ด้วยความนับถือ
แช่แข็ง

ตอบ คุณแช่แข็ง
คงมีความพยายามแช่แข็งการเมืองไทยจริงๆ นั่นแหละ เป็นยุคที่ไม่สนับสนุนให้ประชาธิปไตยเบ่งบานสักเท่าไร เพราะมุมมองประชาธิปไตยของกลุ่มผู้มีอำนาจยุคนี้คือ ประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนเต็มเปี่ยมไม่ได้ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นก็กลัวว่าจะสูญเสียอำนาจ เลยอ้างทุกอย่างเพื่อยื้อเอาไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน