วงล้อเศรษฐกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี

ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เปรียบเสมือน Gateway สู่คาบสมุทรอินโดจีน เป็นทำเลยุทธศาสตร์สำคัญที่ไทยยังมีโอกาสพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจชั้นแนวหน้าดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนและใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

หากเร่งรัดให้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่กลางปีนี้ไปจะส่งผลให้เศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตเพิ่มได้อีก 1.7% ต่อปี

หากเอสเอ็มอี คว้าโอกาสผลักตนเองเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตและเติบโตตามอุตสาหกรรมเป้าหมายขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนได้สำเร็จ จะดันให้รายได้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 1.02 ล้านล้านบาทต่อปี เติบโตขึ้นเป็น 1.08 ล้านล้านบาทใน ปี 2561

โดย เอสเอ็มอี ดาวเด่นที่ได้รับอานิสงส์สูงสุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ มองว่ากลุ่มนี้จะมีส่วนแบ่งจากรายได้ส่วนเพิ่มถึง 11%

รองลงมาคือธุรกิจค้าปลีกเครื่องอุปโภค/บริโภค ได้ส่วนแบ่ง 9% ตามด้วย 3 ประเภทธุรกิจที่ได้รับส่วนแบ่งเท่าๆ กันที่ 8% คือ ธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเหล็ก ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหรือติดตั้งงานระบบ และธุรกิจจำหน่ายเครื่องจักรกล

อันดับต่อมาคือ ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างได้ส่วนแบ่ง 7% ต่อด้วยธุรกิจบรรจุภัณฑ์ มีส่วนแบ่ง 6%

และสุดท้ายได้ส่วนแบ่งที่ 4% เท่าๆ กันคือ งานบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์และอสังหาริมทรัพย์

โดยธุรกิจ 10 ประเภทที่กล่าวข้างต้นมีส่วนแบ่งรวมกันกว่า 70% ของรายได้ส่วนเพิ่มที่จะส่งถึงมือเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้มีโอกาสปูพรมแดงมาให้ แต่ปัญหาสำคัญยังคงอยู่ที่การปรับตัวของเอสเอ็มอี ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ ช่วยเหลือ และติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องการนำนวัตกรรมการตลาด Online E-Commerce และ E-Payment มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ

แต่การรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันได้

ซึ่งการพยายามปรับตัวให้สินค้าตอบโจทย์ความต้องการและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงใจอย่างรวดเร็วนั้น จะมีผลสัมฤทธิ์กว่า และเป็นครื่องมือที่ดียิ่งยวดที่จะช่วยให้ SME รอดพ้นวิกฤตอย่างถาวร (หน้า 5)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน