“ในขณะใดที่เขามีหิริโอตตัปปะ คือ ความละอายต่อบาป สะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่กล้าทำบาป ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ในขณะนั้นใจของเขาเป็นเทวดา แต่ร่างกายเขาเป็นมนุษย์” สารธรรมมงคล พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา

“พระรัตนากรวิสุทธิ์” หรือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล” วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ วัตถุมงคลเหรียญรุ่นแรก จัดสร้างขึ้นในปีพ.ศ.2508 โดยคณะศิษย์สร้างถวาย ที่ระลึกในการสร้างมณฑปหลวงพ่อพระชีว์

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ หูในตัว จัดสร้าง 1,000 เหรียญ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหน้าตรง ข้างบนจารึก “อตุโล” มีอักขระยันต์ ข้างล่างจารึก “พระรัตนากรวิสุทธิ์หลวงพ่อดูน” ด้านหลังเหรียญจารึก “คณะศิษย์สร้างถวายเป็นที่ ระฤก ในคราวสร้างมณฑปหลวงพ่อพระชีว์ วัดบูรพาราม สุรินทร์ พ.ศ. ๒๕๐๘” เป็นเหรียญที่มาแรง ปัจจุบันเป็นที่เสาะแสวงหา

ในโอกาสอายุวัฒนมงคล 50 ปี พระครูวศินปริยัตยากร (พระอาจารย์โชคดี) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม (วัดพิชัยญาติ) เขตคลองสาน กรุงเทพฯ จัดสร้าง “พระปิดตาเสาร์ 5 มหาโภคทรัพย์” เพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียน เรียนดี และใช้เป็นทุนสาธารณประโยชน์การกุศลต่างๆ

พระปิดตา เสาร์ 5 มหาโภคทรัพย์ ด้านหน้าองค์พระพิมพ์ปิดตานั่งบัวห้าดอก จีวรลายดอกพิกุล รูปองค์อ่อนช้อย ผสมผสานด้วยพุทธศิลป์ ส่วนด้านหลังองค์พระประจุมหายันต์ศักดิ์สิทธิ์ สอบถามโทร.08-9476-5355

พ.ศ.2550 “หลวงพ่อพร้า อัตตสันโต” หรือ “พระครูวิจิตรชยานุรักษ์” เจ้าอาวาสวัดโคกดอกไม้ ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท จัดสร้างวัตถุมงคล “พระสมเด็จแหวกม่าน เนื้อผงน้ำมัน” จำนวน 1,000 องค์ ลักษณะพระสมเด็จแหวกม่านหลวงพ่อพร้ารุ่นนี้เป็นพระเนื้อผงน้ำมัน สร้างตามตำรับหลวงพ่อกวย พิมพ์สี่เหลี่ยม

ด้านหน้าพระสมเด็จมีขอบและเม็ดไข่ปลาตรงกลางเป็นรูปนูนพระพุทธ ปางมารวิชัยแหวกม่านตามรูปทรงองค์พระ ด้านหลังพระสมเด็จไม่มีขอบตรงกลางเป็นยันต์ตุ๊กตาเส้นนูน “นะ โม พุท ธา ยะ” ใต้ยันต์มีอักษรไทยและเลขไทย เขียนคำว่า “ว.ค. ๕๐” พระสมเด็จแหวกม่าน หลวงพ่อพร้า เนื้อผงน้ำมันรุ่นนี้จัดสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 หลวงพ่อพร้าปลุกเสกเดี่ยวมาตลอด 9 พรรษา (พ.ศ.2550-2558)

“หลวงพ่อเพ็ชร์ สิริวัฑฒโน” อดีตเจ้าอาวาสวัดนนทรีย์ ต.พุดเลา อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยาพระเกจิเมืองกรุงเก่าผู้ทรงวิทยาคม วัตถุมงคลและเครื่องราง ของขลังล้วนทรงพุทธาคมเป็นที่ประจักษ์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อเพ็ชร์ ปี 2489” ซึ่งนับเป็นเหรียญรุ่นแรกและเป็นรุ่นเดียวที่ท่านสร้างไว้

ลักษณะเป็นรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญยกขอบโดยรอบ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเพ็ชร์ห่มจีวรลดไหล่ครึ่งองค์ ด้านล่างมีอักษรไทยกำกับว่า “พระครูธรรมการ เพ็ชน์วัดนนทรีย์” (สันนิษฐานว่า คำว่า ‘เพ็ชร์’ ช่างแกะแม่พิมพ์ผิด จาก ‘ร’ เป็น ‘น’) ด้านหลังเหรียญเป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็นอักขระขอม อ่านว่า “สัตถาระนุง อากัตทิตุง วิสัตเชตุงนาทาสิ สัตถาธะนุงนาทาสิ” คาถาบทนี้มีในตำนานพุทธชาดก เป็น ‘พระคาถามหาอุด’ ล่างสุดเป็นอักษรไทยว่า “ที่ระลึกครบอายุ ๘๐ ปี พ.ศ.๒๔๙๘” เป็นเหรียญที่นักสะสมวัตถุมงคลให้ความสนใจยิ่ง

พ.ศ.2534 “วัดเหมืองค่า” หมู่ 6 ต.เหมืองหม้อ อ.เมือง จ.แพร่ จัดสร้างเหรียญ “หลวงพ่อลือ” หรือ “หลวงพ่อฦๅ” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ รุ่นแรก เป็นเหรียญ ทองเหลืองรูปสามเหลี่ยม ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อฦๅ ด้านหลังเหรียญตรงกลางเหรียญเป็นรูปอุโบสถน้อย เขียนคำว่า “พระหลวงพ่อฦๅ” “รุ่นแรก” และ “วัดเหมืองค่า จ.แพร่” ด้วยเจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ และมีพระเกจิคณาจารย์ชื่อดังเข้าร่วมพิธีปลุกเสก ทำให้เหรียญหลวงพ่อฦๅเป็นเหรียญยอดนิยมอีกเหรียญหนึ่งของ อ.เมือง จ.แพร่ ที่นักนิยมสะสมพระเครื่อง ควรมีไว้ในครอบครอง

กลับมาอีกครั้ง!! หลังผ่านวิกฤตการณ์โรคโควิด-19 สำหรับงานประกวดพระเครื่องทั่วประเทศ มีกำหนดการดังนี้ วันที่ 22-23 ส.ค.2563 งานประกวดพระที่อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (อาคารบี) กทม. จัดโดย ชุมนุมนายเรืออากาศ รุ่นที่ 27 ประสานงาน โดย พล.ร.อ.ปรีชาญ จามเจริญ ค่าบัตร 400 บาท (ซื้อบัตร 1 ใบ รับเหรียญไอ้ไข่ 1 เหรียญ), วันที่ 29-30 ส.ค.2563 งานประกวดพระท้องถิ่น ที่ศูนย์การค้าทียูโดมพลาซ่า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

จัดโดยชมรมพระเครื่องทียูโดมธรรมศาสตร์ รังสิต ร่วมกับสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย, วันที่ 5-6 ก.ย. 2563 งานประกวดพระที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ จัดโดยชมรมสหายพระกรุ, วันที่ 26-27 ก.ย.2563 งานประกวดพระที่ห้างเซ็นทรัล จ.นครราชสีมา จัดโดยสมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ สาขาจังหวัดนครราชสีมา, วันที่ 3-4 ต.ค.2563 งานประกวดพระ ท้องถิ่น ที่วัดสะตือ จ.พระนครศรีอยุธยา

วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ขอเชิญร่วมบุญ ค้ำจุนพุทธศาสน์ ปลุกรากแก้วศาสนทายาท สร้างปัญญาบารมี เป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ พจนานุกรมบาลี-ไทย ร่วมบุญเล่มละ 499 บาท (สามารถนำอนุโมทนาบัตรไปลดหย่อนภาษีได้) ทำบุญผ่านบัญชีธนาคาร กรุงไทย สาขาพระราม ๙ ซอย ๑๓ เลขที่บัญชี 076-0-29621-9 ชื่อบัญชี “วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เพื่อจัดพิมพ์พจนานุกรมบาลี-ไทย” ติดต่อร่วมบุญได้ที่ กองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาทวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก 999 ซอย 19 ถ.พระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 โทร.0-2318-5926-7, ผศ.ทรรศนีย์ โทร.08-6885-2829

โดย…อริยะ เผดียงธรรม [email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน