คดี ‘บอส’ สะเทือนถึงการเมือง : รายงานพิเศษ

คดี ‘บอส’ สะเทือนถึงการเมือง – กรณีสั่งไม่ฟ้อง ‘บอส’ วรยุทธ อยู่วิทยา บานปลายเกินกว่าที่ผู้เกี่ยวข้องคาดคิด

กระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความผิดปกติของกระบวนการยุติธรรม

และลามสู่การเมือง กระทั่งการชุมนุมของนักศึกษาก็หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมากดดันรัฐบาล

เหตุใดคดีดังกล่าวถึงกระทบชิ่งมาถึงการเมือง สะเทือนถึงสถานะรัฐบาล มีคำอธิบายจากนักวิชาการ ดังนี้

สุรชาติ บำรุงสุข

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

หากถามถึงผลกระทบของคดีนี้ในทางการเมือง คิดว่าผลกระทบใหญ่มีด้วยกัน 3 ข้อ

1.ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบยุติธรรมไทย เพราะผลที่เกิดขึ้นมันสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซึ่งไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นความเหลื่อมล้ำในด้านกฎหมาย ซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เท่ากับไปยืนยันว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในทางกฎหมายคู่ขนานกัน

ส่วนที่บอกว่าความเหลื่อมล้ำทั้ง 2 ด้านที่จริงมีมานานแล้วนั้น แต่มันมีความชัดเจนจากกรณีนี้

2.ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของระบบบริหารราชการของไทย ซึ่งเรายังไม่ได้มีการพูดกัน ไม่ใช่แค่อัยการ ตำรวจ ไม่ใช่แค่เรื่องกระบวนการยุติธรรม แต่ภาพรวมของระบบบริหารราชการไทยทั้งระบบ ซึ่งถ้าระบบบริหารราชการเกิดความเหลื่อมล้ำ ก็จะพาประเทศมีปัญหาในอนาคต

อันที่ 3.ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง เพราะชื่อของบุคคลที่ปรากฏในสื่อเป็นบุคคลที่มีสถานะอยู่ในรัฐบาล หรือมีสายสัมพันธ์กับบุคคลในรัฐบาล ในสภาวะอย่างนี้ทำให้ผู้คนเริ่มสงสัยว่ารัฐบาลไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมในสังคมได้

จากเหตุข้างต้น เชื่อว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้จะยิ่งกลายเป็นวิกฤตศรัทธาของรัฐบาล

ส่วนกรณีการชุมนุมของนักศึกษาเริ่มหยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องให้รื้อฟื้นคดีนั้น จากที่เด็กนำมาพูดถึง และนำมาโยงกับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล คดีนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในการชุมนุมอีกเรื่องหนึ่ง พูดง่ายๆ คือ คดีนี้จะกลายเป็นเชื้อไฟของการชุมนุมอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน

และแน่นอนคดีนี้กระทบต่อสถานภาพของรัฐบาลแน่ๆ เพราะมีภาพที่นำไปผูกโยง เช่น กรณีการให้เงินบริจาคแก่รัฐบาล 300 ล้าน หรือตัวบุคคลในคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ซึ่งเป็นกรรมาธิการต้นเรื่อง ก็ล้วนมีสายสัมพันธ์กับคนที่มีอำนาจในรัฐบาล

ส่วนที่ขณะนี้หลายหน่วยงานตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาหลายชุดพร้อมๆ กันนั้น ทำให้เห็นว่าสังคมไทยใช้การตั้งกรรมการเป็นทางออกในการแก้ปัญหา

วันนี้มีกรรมการของรัฐบาลที่มีกรอบเวลาทำงาน 30 วัน อัยการก็ตั้งกรรมการโดยมีกรอบเวลา 15 วัน ตำรวจก็ตั้งกรรมการ ให้กรอบเวลา 7 วัน แล้วยังมีกรรมการของรัฐสภาอีกชุด รวมทั้งของป.ป.ช.อีกชุดหนึ่ง

เป็นการแก้ปัญหาด้วยการตั้งกรรมการเต็มไปหมด จนคนรู้สึกว่ามันไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

เมื่อมีกรรมการขึ้นมาแล้วสังคมทำอะไรไม่ได้ ต้องรอผลการสอบสวนของกรรมการในชุดต่างๆ แต่รัฐบาลก็ต้องยอมรับว่าสังคมมีความเห็นและมีความรู้สึก ผมอยากให้รัฐบาลตระหนักถึงอารมณ์ของคนในสังคม

เรื่องนี้จะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ทุ่งใหญ่นเรศวรใน ปี 2516 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ 14 ตุลา เพราะคนไม่มีศรัทธาต่อรัฐบาลเหลือ และไม่เชื่อคำชี้แจงของรัฐบาล อย่าดูถูกอารมณ์และความรู้สึกของสังคม

อนุสรณ์ อุณโณ

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.

คดีดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในประเทศนี้ ซึ่งหมักหมมกันมานาน ยิ่งในส่วนกระบวนการยุติธรรมต่างรู้กันดีว่าสถานการณ์ประเทศไทยเป็นอย่างไร มีการพูดถึงในเชิงสถิติของศาลฎีกามาแล้วว่า

1.ส่วนใหญ่แล้วคนที่ติดคุกจะเป็นคนจน และคนรวยสามารถหลุดคดีไปได้มากในชั้นการประกันตัวสู้คดี

2.การต่อสู้คดีความต้องจ้างทนาย ตาสีตาสาจะเอาเงินที่ไหน ทำให้เกิดกรณียอมความ ยอมติดคุก หรือสู้ไม่ไหวสุดท้ายก็แพ้คดี หากพูดกันกระบวนการยุติธรรมแบบปกติก็ไม่ได้เอื้ออำนวย หรือให้ความยุติธรรมอย่างเสมอกัน สงวนไว้ให้กับคนที่จ่ายได้ เป็นความยุติธรรมที่มีราคา

กรณีของบอสเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดและโดดเด่นเป็นพิเศษเพราะถูกจับตาโดยสังคม สำคัญคือมีความเลวร้ายและหนักหนาในลักษณะการแทรกแซงก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมด้วย ทั้งการพยายามเปลี่ยนพยานหลักฐาน การชี้แจงต่างๆ นานาที่ไม่ใช่แค่การใช้สถานะทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือเพื่อยังประโยชน์ให้ตัวเอง

ในทางกฎหมายก็มีปัญหาของมัน แต่อีกทางหนึ่งก็คือปัญหาทางการเมืองด้วย ปัจจุบันจะเห็นได้ว่านักศึกษา กลุ่มคน เริ่มนำประเด็นนี้มาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศ ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งมีลักษณะเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม หรือสองมาตรฐาน ทั้งชัดเจนว่ามีการกระทำผิด

เมื่อย้อนกลับไปดูรูปคดี มีการให้คนอื่นที่อยู่ใต้อาณัติออกมาแบกรับความผิดนี้ด้วยซ้ำไป ซึ่งกรณีนี้มันมีความอัปลักษณ์สูงเป็นพิเศษ ที่ผ่านมาแม้จะมีเหตุการณ์แบบนี้ไม่น้อย แต่เหตุการณ์นี้อยู่ในสายตาประชาชนและรูปคดีค่อนข้างกระจ่างชัด ทั้งการสืบสวนจนกระทั่งสั่งไม่ฟ้องชี้ให้เห็นถึงความอัปลักษณ์ระดับขีดสุด

ทั้งยังเกิดเรื่องน่าประหลาดที่ต้องมานั่งตั้งคณะกรรมการกันใหม่อีกรอบ บ่งบอกว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนหน้าไม่ได้อยู่ในครรลองปกติ แล้วที่ผ่านมาคืออะไร แปลว่ากระบวนการปกติไม่สามารถไว้ใจได้เลยใช่หรือไม่ และถ้าสังคมไม่รู้เรื่องนี้จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างกรณีนี้หรือไม่

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือภาวะของการไร้ซึ่งมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม คิดว่าการตั้งคณะกรรมการไต่สวนตรงนี้เป็นผลลบมากกว่า แง่หนึ่งชี้ให้เห็นว่ากระบวนการแบบปกติมีช่องว่าง แทนที่จะตั้งคณะกรรมการควรรื้อกระบวนการยุติธรรมว่าถูกออกแบบมาแบบไหน ถึงไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ผู้คนได้อย่างเสมอภาคกัน

แม้จะมีความพยายามปฏิเสธการเชื่อมโยงกับรัฐบาล แง่หนึ่งชี้ให้เห็นอีกตัวอย่างที่รัฐบาลปล่อยให้ตำตา พอเรื่องมันแดงก็กุลีกุจอปัดกวาดบ้าน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นรู้อยู่แก่ใจว่าเป็นอย่างไร อย่างคดีนี้เป็นคดีใหญ่ก็ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมา แทนที่คุณจะเข้มงวดกวดขันกับคนที่อยู่ในกระบวนการ

ชี้ให้เห็นถึงความฟอนเฟะของระบบทั้งหมดทั้งมวล ที่อยู่ภายใต้การนำการบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ถ้าไม่มีความอัปลักษณ์ตั้งแต่ระดับบน คนที่อยู่ระดับล่างก็คงไม่กล้าทำ

รัฐบาลพูดแต่ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ทั้งที่ความจริงต้องรู้ การบริจาคเงินให้รัฐบาลทำให้ประชาชนไม่สามารถสลัดความคลางแคลงใจออกได้ จะถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

หากมีการประมูล หรือเปิดสัมปทานต่างๆ จะรับประกันหรือมั่นใจได้อย่างไรว่าช่องทางตรงนี้จะไม่นำไปสู่การเอื้อประโยชน์ตอบแทนกัน

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

เรื่องนี้ค่อนข้างสะเทือนความรู้สึกคน เพราะในรอบหลายปีที่ผ่านมาเราต่างรอการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงทุกระบบ เชื่อว่าความพยายามในการปฏิรูปก็ควรจะดีแต่ผลมันเกิดในทางตรงกันข้าม

และช่วงเวลาเดียวกันมีการติดตามดำเนินคดีเล็กๆ น้อยๆ หรือมโนสาเร่กับนักกิจกรรม และไม่ใช่นักกิจกรรม พวกหน้าเดิม ขาประจำ แต่เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานเราอย่างม็อบแฮมทาโร่

ก็ทำให้เห็นชัด และเด็กๆ ก็จะรู้สึกว่าทำไมคดีของเขา เจ้าหน้าที่รัฐเอาเป็นเอาตายมากเหลือเกิน ต่างจากคดีสะเทือนขวัญมากที่ไม่ได้เกิดแถวปากช่อง สันป่าตอง ดอยเต่า แต่เกิดขึ้นที่ถนนสุขุมวิทใจกลางเมือง ย่านธุรกิจสำคัญ

และเห็นได้ว่าตั้งแต่วินาทีแรกที่เกิดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา ปกปิดข้อมูล รวมไปถึงมีพยานงอก มีกระบวนการที่ผิดปกติขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา พยานปากสำคัญก็เสียชีวิตที่จ.เชียงใหม่ ต่อให้เราไม่สนใจเรื่องพวกนี้แต่ก็จะรู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ

สิ่งที่โยงมาถึงรัฐบาลคือสิ่งที่ทำกับประเทศในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา ที่ว่าจะทำตามสัญญามันกลายเป็นสัญญาที่ว่างเปล่า กลายเป็นสิ่งซึ่งคนคับข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่แปลกใจว่าคดีนี้ที่สุดเป็นคดีที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

และในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่พ้นคำปรามาสต่อประโยคที่ว่าคุกตะรางมีไว้ขังคนจน คนที่ไม่มีอำนาจต่อสู้ ซึ่งเป็นส่วนที่แรงที่สุดและเป็นแรงสะท้อนกลับมาถึงตัวรัฐบาลเอง

กรณีนักศึกษาที่ชุมนุมต้านรัฐบาลเรียกร้องให้รื้อคดีนี้ใหม่ ไม่ใช่เด็กๆ เอาเรื่องคดีมาเป็นเรื่องการเมือง แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเขา เขาโตมากับคดีนี้

ลองนึกว่าถ้าเราอยู่ ม.1 หรือ ม.6 เห็นตั้งแต่วันแรกที่บอกว่าคดีนี้หลุดแน่ หลายคนก็บอกว่าไม่หลุดๆ แล้วก็มีคนหนีไปต่างประเทศ เพราะสั่งไม่ฟ้อง แล้วจะไปบอกว่าเด็กเอาเรื่องคดีมาเป็นการเมืองซึ่งไม่ใช่

แต่คือความล้มเหลวในการพิสูจน์ให้เห็นว่าความยุติธรรมมันมีอยู่จริงในสังคมนี้ คดีนี้จึงอยู่ในความสนใจของประชาชน และเด็กๆ ที่พยายามจะพูดให้เห็นถึงความวิปริต ความผิดปกติของกลไกในประเทศทุกเรื่องทั้งเศรษฐกิจ การเมือง กระบวนการยุติธรรม

จึงกลับมาในประเด็นที่แหลมคมมากๆ คือถ้ารัฐบาลยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ก็ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ล้มละลายทางความเชื่อมั่น

ขณะที่การตั้งกรรมการเป็นวิธีแก้ที่ง่ายที่สุด กรรมการก็เหมือนซีม่าโลชั่น รักษาทุกโรค แก้คัน แต่ไม่ได้แก้กระบวนการ ไม่ได้แก้ในสิ่งที่สังคมเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหา กระบวนการจัดการปัญหาสะท้อนความไม่เท่าเทียม ไม่ถูกต้องและผิดปกติ ซึ่งเป็นคำตอบว่าทำไมเยาวชนนำเรื่องนี้มาพูด

หากบวกกับประเด็นอื่นๆ การดำเนินคดีเรื่องเครื่องเสียง การจดชื่อเด็ก ขอดูบัตรประชาชน ทั้งๆ ก็รู้ว่าเด็กเหล่านี้เป็นใคร หน่วยข่าวทำแบบนี้คือจงใจคุกคาม ทำให้กลัว หวาดระแวง ไม่กล้าทำกิจกรรมทางการเมือง

ทำให้การชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิเสรีภาพอันเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยกลายเป็นอาชญากรรม นี่คือความผิดปกติ ไม่ใช่เด็กเอาเรื่องนี้มาเป็นการเมือง แต่ความเป็นการเมืองคือการนำเรื่องราวปกติมาทำให้เป็นคดีการเมือง

รัฐบาลได้รับโอกาสมากเกินพอแล้ว ลองนึกถึงบริษัทห้างร้านที่ผู้บริหารทำผิดซ้ำซาก ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้รับโอกาสยกโทษครั้งแล้วครั้งเล่า คนเอาใจช่วยจนมันหมดใจแล้ว ความไว้วางใจไม่เหลือแล้ว เยาวชนถึงบอกว่ายุบสภา คืนอำนาจ สังคมจะได้ตัดสินใจว่าสิ่งที่ทำมา 5-6 ปีใช่หรือเปล่า ตรงนี้จะตอบโจทย์

ในสังคมที่เป็นสังคมปกติกว่านี้ เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ เขาลาออกรับผิดชอบตั้งแต่วันแรกๆ แล้ว ทั้งหมดทั้งมวลของกระบวนการยุติธรรมต้องมีใครรับผิด หากหาคนรับผิดชอบไม่ได้นายกรัฐมนตรีก็ต้องรับผิด โทษฐานที่ทำให้สังคมไม่ไว้วางใจ

เป็นความล้มละลายทางศีลธรรม ทำให้กติกาในสังคมปั่นป่วน เด็กๆ ไม่มีใครกลัว ใช้กฎหมายจราจร พ.ร.บ.ความสะอาดก็จับไป ไม่กลัว และยิ่งพิสูจน์ว่าตะรางมีไว้ขังคนจน มีไว้ขังคนที่แข็งขืนต่ออำนาจ คุณก็จะยิ่งพัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน