แมวสำคัญของโลก – “8 โรคร้ายในแมวที่ทาสต้องใส่ใจ”

จากสถิติของกรมปศุสัตว์ในปี 2563 คนไทยนิยมเลี้ยงแมวเป็นสัตว์เลี้ยงคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนสัตว์เลี้ยง

ค่าใช้จ่ายของคนรักแมวทุกวันนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปออกที่อาหารแมว, ของเล่นแมวและของใช้อื่นๆ โดยที่คนเลี้ยงมักมองข้ามค่ายาป้องกัน เช่น การพาไปฉีดวัคซีน

คนเลี้ยงแมวต้องอย่าลืมว่า ค่ารักษาพยาบาลแมวแต่ละครั้ง สูงกว่าค่ารักษาพยาบาลคนมาก

ต่อไปนี้ คือ 8 โรคร้ายในแมวที่ควรรู้ไว้เพื่อป้องกันหรือเตรียมรับมือ

 

1.โรคไต

อาการ : ขนแห้ง/ น้ำหนักลด/ มีกลิ่นปาก/ น้ำลายไหล/ ปัสสาวะถี่และกระหายน้ำมากขึ้น

โรคไต เป็นได้ในทุกวัยและทุกสายพันธุ์ของแมว แต่มักจะพบในแมวที่มีอายุเกิน 7 ปีขึ้นไป(ปีของคน)

แมวบางตัวเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการกินสารป้องกันการแข็งตัวยาฆ่าแมลงหรือยาของมนุษย์ เคยมีตัวอย่างแมวกินยาไอบูโพรเฟน (ยาแก้ปวด ลดไข้สูง)ของคนที่ทำหล่นลงพื้นเข้าไปแล้วไตวายฉับพลัน

“โรคหัวใจ เป็นสาเหตุกลักของการเสียชีวิตในคน แต่กับแมวแล้ว คือโรคไต โรคนี้เป็นสาเหตุหลักของความทุกข์ทรมานและความตายสำหรับแมว” ดร. โรเบอร์ตาเรลฟอร์ด หัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของ IDEXX Laboratories กล่าว “เมื่ออายุมากขึ้นโอกาสที่จะเป็นโรคไตในแมวก็เพิ่มมากขึ้น”

หากคุณสงสัยว่าแมวของคุณเป็นโรคไต ให้พาแมวไปพบสัตว์แพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจเลือดและปัสสาวะ หากความเสียหายของไตเกิดจากการอุดตันทางเดินปัสสาวะ จะเข้ารับการผ่าตัดเพื่อให้สามารถกำจัดสิ่งอุดตันออกได้ แต่ถ้าเกิดจากการอุดตันเพราะโรคไต แมวก็จะได้รับการรักษาด้วยยาและให้อาหารที่เป็นมิตรกับไตของแมว

การรับมือกับโรคนี้ดีที่สุดก็คือ การรู้แต่เนิ่นๆ ว่าแมวเป็น หมั่นตรวจเลือดและปัสสาวะ อย่ารอจนแมวเป็นแล้ว ค่อยพาไป

โรคไต เป็นโรคที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงมาก

2.ไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (FIV)

อาการ : น้ำหนักลด/ ขนแห้ง/ โรคผิวหนัง/ ท้องเสีย

FIV (เกี่ยวข้องกับเอชไอวี แต่สายพันธุ์เฉพาะของ felines) เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายแมวเพราะถูกกัด เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะโจมตีระบบภูมิคุ้มกัน จนอันตรายถึงชีวิตได้ ยิ่งไปกว่านั้น FIV ยังจัดอยู่ในประเภท lentivirus หรือ “ไวรัสช้า”

ดังนั้นแมวที่ติดเชื้อจึงสามารถดูปกติได้เป็นเวลาหลายปี เนื่องจากไวรัสทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของแมวอ่อนแอลงอย่างช้าๆ แม้ว่าสัตว์แพทย์ส่วนใหญ่จะตรวจหา FIV เมื่อยังเป็นลูกแมว แต่ FIV ส่วนใหญ่จะตรวจเจอลดลงเมื่อแมวโตขึ้น

ดังนั้นหากเป็นไปได้ ควรขอตรวจทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าแมวแสดงอาการของโรคดังที่ว่า ซึ่งชัดเจนคือ น้ำหนักลด ขนแห้ง

อีกวิธีที่ดีในการป้องกันแมวสำหรับโรคนี้ก็คือ ให้แมวอยู่ในบ้าน ห่างจากแมวจรและแมวที่ไม่ได้ฉีดยาป้องกันโรคนี้

หากคิดว่าแมวมี FIV ให้พาเขาไปหาสัตว์แพทย์ เพื่อทำการทดสอบแอนติบอดี หากแมวมี FIV ก็ควรถูกกักขังไว้ในบ้าน เพื่อที่จะไม่สามารถแพร่กระจายไปยังแมวหรือสัตว์อื่น ๆ

3.โรคเบาหวาน

อาการ : ถ่ายปัสสาวะและกระหายน้ำบ่อย /น้ำหนักลด/ อาเจียน/ แมวมักมีท่าทางการเดินที่แปลกไป เช่น เดินเหยียบพื้นด้วยฝ่าเท้า แทนที่จะเดินด้วยนิ้วเท้าหรือวางอุ้งเท้าลงไปกับพื้น

ทุกวันนี้พบโรคเบาหวานในแมวบ่อยขึ้น และมีแนวโน้มที่แมวจะเป็นโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากแมวมีอายุยืนขึ้น และแมวเลี้ยงปัจจุบันมักกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง

โรคเบาหวานในแมว พบได้สองประเภท ประเภทที่ 1 คือ ร่างกายแมวขาดอินซูลิน

ในขณะที่ประเภท 2 พบได้บ่อยกว่า คือร่างกายแมวดื้อต่ออินซูลิน

แม้ว่าโรคเบาหวานจะมีสองประเภทที่แตกต่างกัน แต่การรักษาโดยทั่วไปจะเหมือนกัน

สัตวแพทย์จะตรวจปัสสาวะและเลือดเพื่อหาระดับน้ำตาลในเลือด หากแมวเป็นโรคเบาหวาน วิธีรักษาคือต้องได้รับการฉีดอินซูลินวันละ 2 ครั้ง อาหารก็ต้องเป็นอาหารเฉพาะ ที่มีโปรตีนสูง / คาร์โบไฮเดรตต่ำและต้องดูแลไม่ให้น้ำหนักแมวขึ้นจนเกินไปตามคำสั่งของสัตวแพทย์

4.มะเร็งเม็ดเลือดขาว

อาการ : ท้องร่วง/ โรคผิวหนัง/ การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ/ มีลูกยากหรือไม่มีเลย

มะเร็งเม็ดเลือดขาวแพร่กระจายผ่านเชื้อไวรัสที่พบในน้ำลายและปัสสาวะของแมว ถ่ายทอดเชื้อผ่านทางชามที่ใช้ร่วมกัน หรือแม้แต่รกของแม่แมว

น่าเศร้าที่โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักเป็นอันตรายถึงชีวิตในแมว แมวบางตัวแม้จะเป็นแล้วและเข้ารับการรักษาและร่างกายแมวตอบสนองต่อเคมีบำบัด แต่โดยทั่วไปมักมีอายุต่ออีกไม่เกินปี

วิธีรักษาวิธีที่ดีที่สุด คือป้องกันไม่ให้แมวติดโรคนี้ โดยการรับการฉีดวัคซีน

 

5.โรคพิษสุนัขบ้า

อาการ : มีไข้/ น้ำหนักลด/ สมาธิสั้น/ ก้าวร้าว/ กล้ามเนื้อกระตุก/ น้ำลายไหล

โรคพิษสุนัขบ้าคือ การติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายโดยการกัดหรือน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจะทำลายเส้นประสาทไขสันหลังและสมองของแมว จนถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากเชื้อนี้แพร่ได้ง่ายจากสัตว์สู่คน จึงควรฉีดวัคซีนให้แมวทุกปี

โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้เลย

 

6.โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากแมว (FIP)

อาการ : น้ำหนักลด /ซึม / มีไข้

FIP เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาของแมว (FCoV) และติดต่อทางอุจจาระ FIP มีสองรูปแบบ – เปียกและแห้ง

รูปแบบที่เปียกทำให้เกิดการสะสมในหน้าอก ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หรือปัญหาทางเดินหายใจ

รูปแบบแห้งจะสร้างแผลอักเสบที่เรียกว่า pyogranulomas ทั่วร่างกายส่งผลต่ออวัยวะและระบบที่สำคัญ เช่น ไต ตับและระบบประสาท

โรคนี้มักจะเป็นในแมวที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เป็นหลักและมักเป็นอันตรายถึงชีวิตทุกตัว

 

7.Heartworm หรือโรคพยาธิหนอนหัวใจ

อาการ : ไอแห้งๆ/ อาเจียน/ น้ำหนักลด/ หอบ/ ท้องกาง/ ชัก

Heartworm เป็นโรคที่อันตรายและร้ายแรง มักจะติดเชื้อที่หัวใจและปอดของแมว เชื้อแพร่กระจายโดยยุง

เป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมหรือสภาพอากาศเลย

พยาธินี้เป็นพยาธิตัวกลมที่อาศัยอยู่ในระบบเลือด เมื่อมันโตเต็มวัยจะอาศัยอยู่ในห้องหัวใจ มันจะขัดขวางการทำงานของหัวใจในการบีบตัว เพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นแมวที่เป็นมักมีอาการคล้ายเป็นโรคหัวใจ

โรคนี้พบในแมวได้น้อยกว่าในสุนัข ว่าไปแล้วแทบไม่มีวิธีการตรวจที่แน่ชัดและแมวเองก็แทบไม่แสดงอาการของโรค อาการที่เป็นทำให้เจ้าของแมวมักคิดว่าเป็นโรคอื่น

แต่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลดีก็คือ ใช้ยาหยดที่หลังของแมว ยาหยดหลังสำหรับป้องกันโรคนี้ เป็นยาหยดหลังที่มีฤทธิ์ทำลายตัวอ่อนของเจ้าพยาธิชนิดนี้ได้ทุกระยะ 100% เป็นยาที่มีความปลอดภัย แต่ต้องอย่าลืมหยดเป็นประจำทุกเดือน

 

8.ไฮเปอร์ไทรอยด์

อาการ : อาเจียน/ ท้องร่วง/ ปัสสาวะและกระหายน้ำมากขึ้น/ ขนแห้ง/ กินน้ำและอาหารเก่ง, โรคหัวใจ

มักจะพบในแมวที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไป(ปีของคน)

Hyperthyroidismมาจากการล้นเกินของต่อมไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย จนเกินความเครียดแก่ไต แก่หัวใจ ตับและอวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ หากปล่อยทิ้งไว้อาจถึงแก่ชีวิตได้

แมวแสดงอาการสามอย่าง คือ กินน้ำเก่ง ปัสสาวะเก่ง และกินอาหารเก่ง เจ้าของมักไม่ทันสังเกตและระมัดระวังเรื่องการกิน มักนึกว่าแมวอ้วนเอง แต่ภาวะนี้มักดำเนินไปจนกระทั่งแมวเริ่มมีน้ำหนักตัวลดลงแม้จะกินเก่ง แมวมักมีอาการกระวนกระวาย หงุดหงิดง่าย ผอมลงๆ จากนั้นอาการก็จะสวิงไปอีกข้าง คือเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร จนลุกลามมีผลกับหัวใจ ไต และระดับความดันโลหิต ทำให้แมวเสียชีวิตได้ในระยะเวลาไม่นาน หากไม่สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาอย่างทันท่วงที

จะทราบว่าแมวมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือไม่ ก็ต้องตรวจตรวจหาต่อมที่ขยายใหญ่ขึ้น โดยการคลำที่คอ แมวที่เป็นขนาดต่อมจะโตขึ้น แมวจะมีอัตราการเต้นของหัวใจและเสียงเต้นที่ผิดปกติ แมวจะความดันโลหิตสูงมากกว่า 180 มม.ปรอท

นอกจากนี้การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือดเพื่อดูระดับความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว การตรวจค่าซีรั่มในเลือด เพื่อตรวจค่าตับ ไต การวัดความดันเลือด การเอ๊กเรย์ช่องอกช่องท้อง การตรวจอัลตราซาวน์ช่องอกและช่องท้องเพิ่มเติมก็ทำให้สัตวแพทย์วินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น

 

หากแมวเป็นโรคนี้ มีทางเลือกในการรักษา 3 ทาง

ได้แก่ 1.การให้ยา
2.การผ่าตัดเอาออก
3.หรือการบำบัดด้วยกัมมันตภาพรังสี – ไอโอดีน

การให้ยา สัตวแพทย์จะให้ยาต้านไทรอยด์ เห็นผลช้าแต่ส่งผลดีในระยะยาว

การรักษาด้วยกัมมันตภาพรังสี – ไอโอดีน ในเมืองไทยยังไม่แพร่หลาย เพราะค่าใช้จ่ายสูง แต่ในอเมริกากลับนิยมกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงต่ำ และประสบความสำเร็จสูง ทั้งยังไม่มีผลข้างเคียง

สรุป

วิธีการรักษาแมวที่ดีที่สุดก็คือ การดูแลแมวให้แข็งแรง

ด้วยการไปพบสัตว์แพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ รับการตรวจเลือดและปัสสาวะทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อแมวมีอายุมากกว่า 7 ปี อาหารที่ให้ควรคำนึงถึงให้มากที่สุด

เรียบเรียงและปรับปรุงจากบทความที่เขียนโดย Kelsey Cruz

https://www.policygenius.com

ภาพ pixabay

โดย…ขึ้นหนึ่งค่ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน