เป็นแม่ไม่ง่าย – “เพิ่งมารู้หลังจากผ่านไปเกือบว่าลูกโดนไถค่าขนมจนแทบไม่ได้ซื้ออะไรกินที่โรงเรียนเลย”

ก่อนจะเข้าโรงเรียน ลูกเราเป็นเด็กร่าเริง คุยเก่ง แต่เขาสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ป่วยบ่อย แล้วขาเขาเคยหักมาก่อน เหต้องดามเหล็ก เลยเหมือนเดินไม่ค่อยถนัด จะเป๋นิดๆ เลยไม่ค่อยชอบไปไกลกว่าสวนหย่อมในหมู่บ้าน เพื่อนของเขาก็มักจะเป็นเด็กที่เล็กกว่าหรือเด็กผู้หญิง ที่จะสามารถเล่นกันได้อย่างสงบสุข ไม่เล่นอะไรรุนแรงที่ลูกอาจจะต้องเจ็บตัวได้ เช่น เล่นครอบครัว เล่นขายของ นั่งเล่นของเล่นด้วยกันเป็นหลัก ไม่ค่อยออกไปโลดเต้นอะไรนอกบ้านมากนัก

พอตั้งแต่เริ่มเข้าอนุบาลแรกๆก็โอเค ดูสนุกสนานดี หลังลูกกลับจากโรงเรียนเขามาเล่าให้เราฟังตลอดว่าวันนี้ที่โรงเรียนครูให้ทำอะไรบ้าง เล่นอะไรกับเพื่อนมาบ้าง น่าจะเพราะทั้งเราทั้งแฟนเตรียมความพร้อมให้ลูกมาไว้ล่วงหน้านานแล้ว พาไปดูโรงเรียนก่อน เข้าค่ายเตรียมความพร้อม เขาก็กระตือรือร้นอยากไปโรงเรียน อยากไปเล่นกันเพื่อนๆ อยากไปเล่นเกมกับครู อยากทำกิจกรรมสนุกๆ แต่เรียนไปได้สักเดือน เริ่มบ่นอยากอยู่บ้านมากกว่า


เราบอกครูไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียนแล้วว่า ลูกเราขามีปัญหานิดหน่อยนะ มีดามเหล็ก มีเดินกะเผลกหน่อย ทำอะไรโลดโผนมากไม่ได้ ครูก็เข้าใจตรงนี้ ก็บอกว่าจะดูแลให้ เราคุยกับครูตลอด ครูก็มักจะเล่าว่า ลูกพักหลังๆไม่ค่อยเล่นกับเพื่อน ชอบอ่านนิทาน เล่นของเล่นคนเดียว ไม่ชอบเล่นกับเด็กผู้ชายด้วยกันเพราะเขาตัวเล็ก เล่นกีฬาอะไรไม่เก่งสักอย่าง เคยวิ่งเตะบอลกับเพื่อนแล้วโดนเพื่อนกระแทกหน้าประตู หัวชนเสาโนกลับบ้านมาด้วย

ลูกเล่าว่า เพื่อนไม่ค่อยให้เล่นอะไรที่ต้องวิ่ง ต้องใช้ทักษะร่างกายเท่าไหร่ เพราะเล่นทีไรแพ้ทุกที ช่วงนี้ลูกจากเป็นเด็กที่เคยร่าเริงก็ดูเงียบๆลง ลูกบอกว่าเพื่อนบางคนชอบว่าชอบล้อเลียนเรื่องลูกเดินขาเป๋ ตัวเล็ก

เย็นวันหนึ่งเราไปรับ ลูกเดินร้องไห้กลับมาหาเราเลย เราก็เลยพาเดินไปคุยกับครูประจำชั้นว่า ลูกถูกรังแก โดนล้อเลียนนะคะ พอคุยกับเด็กคนที่รังแกลูกเราได้ไหม ครูก็รับปากว่าจะช่วยดูแลให้เป็นพิเศษและพยายามปลอบลูกเราด้วย


ปรากฏว่า วันต่อมาตอนมารับลูก ลูกเราก็ซึมเหมือนเดิม แต่ไม่ยอมเล่าอะไรจนมาถึงบ้าน พออาบน้ำเสร็จ ลูกมาเล่าว่า ครูบอกให้เพื่อนๆว่าพูดไม่ดีกับลูก เพราะลูกน่าสงสาร ไม่เหมือนคนอื่นๆ เพื่อนๆต้องช่วยเหลือลูก ถ้าครูเห็นใครพูดไม่ดีใส่ลูกอีกจะถูกทำโทษ สรุปแล้ววันทั้งวันเลยแทบไม่มีใครคุยกับลูกเลย

เราก็ไม่รู้ว่าจุดไหนมันพอดี หลังจากเรื่องนั้นลูกเราก็เริ่มคุยกับเพื่อนผู้หญิงได้บ้างเล่นได้ ก็ประคับประคองชีวิตนักเรียนมาได้จนจบอนุบาล แล้วก็มาต่อ ป. 1 ที่อีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนนี้ค่อนข้างมีชื่อเสียงในเรื่องวิชาการมากๆ ลูกเราก็ค่อนข้างชอบตอนไปดูโรงเรียน เพราะบรรยากาศโดยรวมดี ใกล้บ้านด้วย

เวลาผ่านไปสามปี เป็นช่วงที่เรายุ่งกับงาน เราก็ตามดูแลลูกเรื่องการบ้าน คุยกันบ้างแต่ลูกก็ไม่เคยเล่าอะไรมาก หลังเปิดเทอมแรกป.สาม ผ่านไปราวสามสี่เดือน เรามาสังเกตว่า ลูกตัวสูงขึ้นนิดหน่อย แต่ผอมลงมาก มีแต่คนบอกว่าลูกตัวยืดตามวัย แต่ตอนใกล้จะสอบปลายเทอม เราเห็นว่าลูกผอม และบุคลิกแปลกไป คือเก็บตัวมากขึ้น เราเลยลองถามลูกตรงๆ ว่าที่โรงเรียนมีอะไรไหม ได้กินอะไรบ้างที่โรงเรียน


ลูกก็เล่าว่า ข้าวที่เราห่อให้ไปทุกวัน ลูกก็กิน แต่บางวันเพื่อนเห็นกับข้าวลูกน่ากินกว่าก็มาขอเปลี่ยน ซึ่งของเพื่อนบางทีลูกกินไม่ได้ก็ทิ้ง ส่วนเรื่องค่าขนมที่เราให้ไปโรงเรียนนั้น ลูกแทบไม่ได้เอาไปซื้ออะไรเลย เพราะพอถึงเวลาใกล้พักกลางวัน เพื่อนคนเดิมก็จะมาขอไปซื้อขนมของตัวเอง เพื่อนบอกว่า เพื่อนตัวใหญ่กว่า หิวกว่า กินข้าวไม่อิ่ม ต้องกินขนมตามเยอะๆแล้วตังไม่พอ ลูกเราเลยเอาเงินค่าขนมของตัวเองให้เพื่อนทุกวัน ส่วนถ้าตัวเองหิวบางทีก็กินน้ำก๊อกให้อิ่มท้อง

ลูกเล่าอีกว่า บางทีก็ไม่ได้เต็มใจ แต่เพื่อนงอแงอาละวาด โกรธใส่ถ้าไม่ยอมให้เงิน และเคยตบหัวด้วย ทำให้ลูกไม่อยากมีปัญหากับเพื่อน เพราะกลัวเจ็บตัวอีก อีกอย่าง ลูกคิดว่าตอนบ่ายเดี๋ยวครูก็แจกนมโรงเรียน ก็พอจะรองท้องได้ ไม่เป็นไร

เราฟังแล้วโกรธและสงสารลูกจนน้ำตาไหล โกรธลูกตัวเองที่ไม่ปกป้องตัวเอง และสงสารที่กว่าแม่จะรู้เรื่อง ลูกโดนไถเงินมาเกือบทั้งเทอมไปแล้ว

คราวนี้เราไม่รอครูแล้ว เราไปโรงเรียนตอนกลางวันเลย รอเจอเพื่อนลูกคนที่ไถเงินลูก และพูดกับเดินตรงๆ ว่าอย่าทำแบบนี้อีก ถ้าป้ารู้ว่ามาไถเงินลูกป้าอีก ป้าจะเอาเรื่องนี้ไปบอกครู แล้วตามพ่อแม่หนูมาที่โรงเรียนด้วย เด็กก็ยกมือไหว้ขอโทษ

หลังจากนั้น ปิดเทอม เราฟื้นฟูสุขภาพจิตลูก และตั้งใจว่า เทอมสองนี้เราจะเป็นคนเอาข้าวไปให้ลูกที่โรงเรียนทุกกลางวัน เฝ้าจนกว่าลูกจะซื้อขนมที่ตัวเองต้องการและได้กินจริงค่อยกลับบ้าน อาจจะมีวิธีอื่นดีกว่านี้แต่ตอนนี้คิดได้แค่นี้ค่ะ

คุณแม่ท่านหนึ่ง กรุงเทพมหานคร

ภาพ Pixabay

 

โดย…ขึ้นหนึ่งค่ำ

#ทางออกกลั่นแกล้ง
ในสถานะเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง สิ่งที่เด็กคิดและทำได้อาจมีทางเลือกไม่กว้างมากนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน