คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คําถามยอดนิยมที่สุดเมื่อพูดถึงสถานการณ์การเมืองของประเทศ ณ เวลานี้คือ แล้วเหตุการณ์จะจบลงอย่างไร

ทุกครั้งที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มอำนาจนิยมกับกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย คำถามนี้มักเกิดขึ้นเสมอ

เพราะสองแนวทางนี้ไปด้วยกันไม่ได้ และไม่มีจุดบรรจบตรงกึ่งกลาง

เหตุรัฐประหาร 2549 และเหตุรัฐประหาร 2557 อาจดูเป็นจุดยุติเหตุการณ์จากการประท้วงอันยืดเยื้อได้ชั่วคราว ทำให้ฝ่ายนิยมอำนาจเฉลิมฉลองได้ แต่ไม่เคยช่วยแก้ปัญหาหรือทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่ไม่เป็นธรรมอีกครั้ง

ระหว่างที่ผู้คนจำนวนมากสงสัยว่าเรื่องจะจบลงอย่างไร ข้อเสนอและข่าวลือเรื่องการปฏิวัติรัฐประหารช่วงเวลานี้เริ่มปรากฏอีก

บ้างว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ บ้างว่าจะได้หยุดการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน

หากประเมินจากสถานการณ์ก่อนการรัฐประหารสองครั้งล่าสุด อาจทำให้คิดว่ามีความเป็นไปได้

เพราะใครที่เคยคิดว่าบ้านเมืองและโลกมาไกลถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 แล้วจะไม่มีเหตุการณ์ ล้าหลังเกิดขึ้นอีก ล้วนคิดพลาดทั้งสิ้น

ยิ่งเมื่อสถานการณ์บีบคั้นว่ากลุ่มประชาชนที่เห็นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงถูกแบ่งขั้วอย่างชัดเจน ความคลางแคลงใจเรื่องรัฐประหารจึงกลับมาอีก

คําถามที่สำคัญกว่าตอนนี้คือทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีก

คำตอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครเคยพูดและสัญญาว่าจะไม่ก่อรัฐประหาร แต่ผู้ที่เริ่มคิดและสนับสนุนความผิดพลาดนี้ต้องใช้สติและปัญญาพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า รัฐประหารคือการซ้ำเติมปัญหาและจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

รัฐบาลมีส่วนสำคัญมากที่จะลดความเกลียดชังระหว่างประชาชน ต้องหยุดกลไกการให้ร้าย เลิกผูกประเด็นเพื่อให้ตนเองมีเกราะป้องกัน

สถานการณ์ของโลก ณ วันนี้ที่ทุกประเทศเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 จำกัดการใช้เงินและ การลงทุน

หากประเทศไทยที่ประกาศตัวเป็นประเทศประชาธิปไตยและเกิดรัฐประหารซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 14-15 ปี มั่นใจได้หรือว่าชาติมิตรอื่นๆ จะคบหาต่อไปโดยได้รับไมตรีและความร่วมมือแบบเดิม

เหตุผลง่ายๆ แค่นี้น่าจะต้องคิดให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน