อดีตนายกฯ สมานฉันท์

ชวน-อานันท์-จิ๋ว-มาร์ค

พบกันเมื่อชาติต้องการ

คอลัมน์ทะลุคน ทะลวงข่าว

สมานฉันท์ – ท่ามกลางวิกฤตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

ถูกม็อบราษฎร ชู 3 นิ้ว เรียกร้องให้ออกจากตำแหน่งหนักแน่นต่อเนื่อง

ฟากรัฐบาลพยายามลดกระแสด้วยการใช้เวทีประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ หาทางออก นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์

โฉมหน้าคณะกรรมการสมานฉันท์ แม้จะถูกปฏิเสธจากบางคนบางกลุ่มทั้งในรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงกลุ่มราษฎร ที่ยืนยันไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย








Advertisement

แต่โดยหลักกว้างๆ มี 4 อดีตนายกรัฐมนตรี ตอบรับเพื่อร่วมหาทางออกด้วย

ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และอดีตนายกฯ ในฐานะผู้ติดต่อทาบทามอดีตนายกฯ มาร่วมด้วยช่วยกัน

อดีตนายกฯ ที่ได้รับทาบทามแล้ว

อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ 2 สมัยที่ไม่ได้มาจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ได้รับการยกย่องและพูดถึงเสมอเวลาบ้านเมืองเกิดความขัดแย้ง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ผู้อาสาเป็น ‘โซ่ข้อกลาง’ ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตหลายครั้งหลายโอกาส

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ผู้บริหารประเทศช่วงเหตุการณ์ 99 ศพ เมื่อปี 2553

ชวน หลีกภัย

เกิด 28 ก.ค. 2481 ชาวจ.ตรัง

สำเร็จการศึกษาโรงเรียนศิลปศึกษา แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร (วิทยาลัยช่างศิลป์ ในปัจจุบัน)

นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษาทางกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา สมัยที่ 17

ดุษฎีบัณฑิต สาขาวรรณกรรม (ภาพเขียน) มหาวิทยาลัยศิลปากร

เริ่มทำงานทนายความ ต่อมาเป็นส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ติดต่อกันยาวนาน 12 สมัย

2534 ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค เคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหลายกระทรวง ยุติธรรม, พาณิชย์, เกษตรและสหกรณ์, ศึกษาธิการ, สาธารณสุข และสำนักนายกฯ

ได้รับเลือกเป็นประธานสภา 4 ส.ค. 2529 ถึง 29 เม.ย. 2531

ขึ้นดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ปี 2535-38

นายกฯ สมัยที่ 2 ควบรมว.กลาโหม ปี 2540-44

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย รวมเวลา 12 ปี ลงจากตำแหน่งปี 2546

ปัจจุบัน เป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรค

หลังเลือกตั้ง มี.ค. 2562 ได้รับเลือกนั่งบัลลังก์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ในวัย 82 ย่าง 83 ปี ได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ รับภาระหน้าที่สำคัญ แม่งานคณะกรรมการสมานฉันท์ นำพาประเทศออกจากวิกฤต

ขอฝากชื่อไว้ในวัยปัจฉิมชีวิตทางการเมือง

อานันท์ ปันยารชุน

เกิด 9 ส.ค. 2475 อายุ 88 ปี

เป็นบุตรคนสุดท้ายในจำนวน 12 คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) กับคุณหญิงปฤกษ์ ปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร)

ศิษย์เก่าอำนวยศิลป์ และกรุงเทพคริสเตียน ไปศึกษาต่อที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร จากดัลวิชคอลเลจ (Dulwich College) และปริญญาตรีด้านกฎหมาย (เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปี 2498

รับราชการกระทรวงการต่างประเทศ เติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ปี 2510 เป็นเอกอัครราชทูต อายุ 35 ปี

เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และสหประชาชาติ

สมาชิกคณะมนตรีไตรภาคีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

กลับประเทศเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

ถือเป็นนักการทูตที่มีบทบาทกับประวัติศาสตร์สำคัญ ปี 2518 ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ไปปูทางความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกฯ จะเดินทางไปจับมือเหมา เจ๋อตุง สถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเป็นทางการ

ปี 2522 ลาออกจากราชการ เข้าสู่ภาคเอกชนกับกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน กระทั่งเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัท และดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ปี 2534 รสช. เชิญมาเป็นนายกฯ หลังรัฐประหารยึดอำนาจพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ได้รับฉายา ผู้ดีรัตนโกสินทร์ แม้คณะรัฐประหารจะตั้งเป็นนายกฯ แต่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ให้คณะนายทหารครอบงำสั่งการ

เดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดการเลือกตั้งส.ส.จนได้รัฐบาลใหม่ จึงอำลาตำแหน่งนายกฯ

กลับเข้าทำเนียบรัฐบาล สมัยที่ 2 ปี 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ประชาชนลุกฮือขับไล่พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกฯสืบทอดอำนาจรสช.

ทำหน้าที่นายกฯ รัฐบาลเฉพาะกิจ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ย.2535

ปี 2540 ได้รางวัลแม็กไซไซ สาขาบริหารรัฐกิจ

ปี 2553 ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หลังการชุมนุมของคนเสื้อแดงยุติลง

ถือเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงชนชั้นนำ กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง

เมื่อพูดตรงๆ ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าคือตัวปัญหา ขอให้รับฟังเสียงกลุ่มเยาวชนที่ออกมาเรียกร้อง

นายกฯจะลาออกหรือไม่ เป็นสิทธิ์ของตัวนายกฯเอง

วัย 88 ปี ตอบรับคำเชิญกลับมาช่วยชาติ

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือ ‘บิ๊กจิ๋ว’

เกิด 15 พ.ค. 2475

ศิษย์เก่าอำนวยศิลป์ ปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ผ่านตำแหน่งสำคัญ เจ้ากรมยุทธการทหารบก, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก, รองเสนาธิการทหารบก, เสนาธิการทหารบก

พ.ค.2529 ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนที่ 16 ก่อนควบผบ.สส.

เจ้าของสมญา “ขงเบ้งกองทัพ” มีบทบาทสำคัญกับนโยบายการเมืองนำการทหาร นำมาสู่คำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 66/2523 ยุติสงครามคอมมิวนิสต์ภายในประเทศอย่างสิ้นเชิง

ปี 2533 ลาออกจากราชการ เข้าสู่เวทีการเมือง

เป็นรองนายกฯและรมว.กลาโหม รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

มิ.ย. 2533 ลาออกจากตำแหน่ง มาตั้งพรรคความหวังใหม่

อดีต ส.ส.หลายสมัย อดีตรมว.มหาดไทย และอดีตรมว.กลาโหม

พ.ย. 2539 นำความหวังใหม่ชนะเลือกตั้ง ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 22 ควบรมว.กลาโหม

ปลายปี 2540 เผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง ต้องพ้นจากตำแหน่ง

ยุบความหวังใหม่มารวมกับพรรคไทยรักไทย ของ ทักษิณ ชินวัตร

เป็นรองนายกฯ รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ก่อนลาออกในวันวิกฤตการเมืองการม็อบ 7 ต.ค. 2551

กลางปี 2552 สมัครเข้าพรรคเพื่อไทย เป็นประธานพรรค ก่อนลาออกปี 2554
ประกาศยุติบทบาททางการเมือง 20 ธ.ค. 2560

ก.ย. 2561 เปิดบ้านเสนอทางออกประเทศ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติและนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาบังคับใช้

อาสาทำหน้าที่ “โซ่ข้อกลาง” เชื่อมทุกฝ่าย แก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่เป็นได้แค่ข้อเสนอ

ในวัยย่าง 89 ได้กลับมาช่วยชาติอีกครั้ง

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชื่อเล่น ‘มาร์ค’

เกิด 3 ส.ค. 2507 ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ

ปริญญาตรี และปริญญาโท มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เบนเข็มมาลงสนามการเมือง ส.ส.กทม.สมัยแรก ขณะอายุเพียง 27 ปี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นส.ส.ต่อเนื่อง 9 สมัย

ปี 2548 ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

17 ธ.ค. 2551 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ในวัย 44 ปี หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน

เม.ย. 2552 เผชิญการประท้วงใหญ่ของคนเสื้อแดง จบลงด้วยสลายการชุมนุม พ.ค. 2553 มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ บาดเจ็บกว่า 2 พันคน

ปี 2554 แพ้เลือกตั้ง ลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่ได้รับเลือกเข้ามาใหม่

หลังเลือกตั้ง มี.ค. 2562 ลาออกจากหัวหน้าพรรค แสดงความรับผิดชอบที่ประชาธิปัตย์ได้ส.ส.ต่ำร้อย

มิ.ย.2562 ลาออกจากส.ส. หลังประชา ธิปัตย์มีมติสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพราะเคยประกาศตอนหาเสียงไม่ร่วมขบวนการสืบทอดอำนาจคสช.

พ.ย. 2563 ตอบรับคำเชิญร่วมกรรมการสมานฉันท์ ในฐานะอดีตนายกฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน