คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ออกซิเจนท่องเที่ยว – เมื่อวันช็อปปิ้งใหญ่ของหลายๆ ประเทศ 11/11 การบินไทยจัดโครงการขายสินค้ามือหนึ่งของบริษัทกว่า 400 รายการ บ่งบอกถึงการปรับตัวหารายได้ในช่วงวิกฤตผลกระทบจากโควิดอีกทางหนึ่ง

เป็นวันเดียวกับที่บริษัทแจ้งผลประกอบการ ประจำไตรมาส 3/2563 ว่า งวด 9 เดือนแรก มียอดขาดทุนสูงถึง 49,552 ล้านบาท

ในฐานะบริษัทสายการบินแห่งชาติ ประชาชนทราบดีว่าการบินไทยมีปัญหาหนี้สินและการดำเนินกิจการที่เป็นลบอย่างหนัก กระทั่งถูกซ้ำด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลก

ทำให้บริษัทต้องยกเลิกเที่ยวบินประจำทั้งเส้นทางระหว่างประเทศและภายในประเทศ

ความหวังขณะนี้จึงฝากไว้กับอนาคตว่าอุตสาหกรรมการบินอาจฟื้นได้ เมื่อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เริ่มแจกจ่ายซื้อขายกันได้ทั่วโลกในปี 2564

ล่าสุด การบินไทยแจ้งว่าจะเริ่มบริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ 10 เส้นทางบินเมื่อเข้าสู่ปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 27 มี.ค.

เส้นทางเน้นจุดหมายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ ซิดนีย์ ฮ่องกง มะนิลา ไทเป โซล โอซากา โตเกียว และอีก 3 ประเทศในยุโรป – โคเปนเฮเกน แฟรงก์เฟิร์ต ลอนดอน

อย่างไรก็ตามขั้นตอนการบินต่างๆ ยังไม่กลับมาเป็นปกติ เพราะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

รวมถึงมาตรการกักตัวผู้โดยสารที่เดินทางกลับมากับการบินไทยเข้มงวดทุกเที่ยวบิน

จังหวะของการปรับตัวจากนี้ไปในระยะแรกจะทำให้การฟื้นตัวต้องเป็นไปอย่างช้าๆ และยังดีใจไม่ได้

แม้แต่รัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาก็มีคำเตือนว่า ปี 2563 ผู้ประกอบการหลายรายพยายามพยุงกิจการไว้ด้วยการปิดชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่หากปี 2564 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นกลับมา และหน่วยงานภาครัฐยังไม่มีมาตรการพยุงผู้ประกอบการท่องเที่ยว จะมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ปิดกิจการถาวรอย่างน้อยร้อยละ 50

เทียบได้กับการไม่มีออกซิเจนมาช่วยต่อลมหายใจ

การรับมือจึงอยู่ที่ว่ารัฐจะปั๊มออกซิเจนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยรวมอย่างไร ไม่เฉพาะแต่การพยุงการบินไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน