รายงานพิเศษ

ช่วยโควิดรอบ2-ตรงจุดหรือยัง? – ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด ถูกวิจารณ์ตั้งแต่มาตรการช่วยเหลือหลังการระบาดรอบแรก

เมื่อโควิดระบาดระลอกใหม่ การจ่ายเงิน 3,500 บาท นาน 2 เดือน ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้แค่ไหน ตรงจุดหรือไม่

มีความเห็นจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และนักการเมืองที่ใกล้ชิดประชาชน

 

อนุสรณ์ ธรรมใจ

อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต

มาตรการช่วยเหลือรอบ 2 บรรเทาความเดือดร้อนได้ระดับหนึ่งเท่านั้น วิธีที่น่าจะดีกว่าคือในพื้นที่ล็อกดาวน์ อยากให้รัฐบาลชดเชยรายได้ให้ทุกคน แม้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ อาจให้ 50-80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือให้นายจ้างรับผิดชอบ จะทำให้คนที่ถูกล็อกดาวน์มีรายได้

และทำให้มาตรการทางสาธารณสุขเกิดประสิทธิภาพเต็มที่ เพราะคนที่ลำบากทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ต้องดิ้นรนไปหางานทำจนได้ จะทำให้การควบคุมด้านสาธารณสุขไม่มีประสิทธิภาพ การชดเชยทั้งระบบก็เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการจัดการในการหารายได้ หากจัดการและพิจารณาเป็นกลุ่มอาชีพต้องเจอกับความวุ่นวายเรื่องการบริหารจัดการ

อย่างน้อยต้องชดเชยให้ 50 เปอร็เซ็นต์ ของรายได้ ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท หรืออย่างน้อยเดือนละ 7 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือน โดยเฉพาะในพื้นที่ล็อกดาวน์ ไม่เช่นนั้นปัญหาก็ไม่จบ เมื่อให้ไปแล้วเขาก็เอาเงินมาใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รัฐสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ใช่ให้แล้วเงินเงียบหาย

ส่วนระยะปานกลางและระยะยาว ในแง่การเงินต้องผ่อนคลายมากขึ้นกว่านี้ และงบปี 2564 เม็ดเงินค่าใช้จ่ายต้องไม่ลดลงแต่ควรเพิ่มขึ้น ที่รัฐบาลปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2564 เพราะคาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นแต่เมื่อเป็นเช่นนี้อาจไม่ดีอย่างที่คาด เป็นไปได้ที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่คาด

ดังนั้น มาตรการที่รัฐออกมาช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็น 3,500 บาท 2 เดือน ลดค่าน้ำค่าไฟ เป็นเวลา 2 เดือน ถือว่าไม่เพียงพอ เพราะผู้ได้รับผลกระทบ บางคนได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกแรกแล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม มีหนี้สินค่อนข้างสูง ดังนั้นต้องช่วยเหลือให้เขาอยู่ได้

ต้องเข้าใจว่าการแพร่ระบาดรอบสองเป็นผลมาจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งบ่อนการพนัน สถานบันเทิง ก็เกี่ยวข้องกับการจัดการของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ ประชาชนไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหา

การควบคุมการระบาดได้ในรอบแรกเป็นผลมาจากประชาชนให้ความร่วมมือ และเรามีสาธารณสุขที่ดี แม้แต่การระบาดครั้งแรกที่มาจากสนามมวย ก็เกี่ยวข้องกับการพนัน ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของประเทศ เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้จำเป็นต้องเร่งปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย

หากกังวลว่าการชดเชยจะไม่ทั่วถึงเพราะมีคนจนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ก็ดูจากฐานภาษี ฐานเงินออม ถ้าไม่มีเงินออมในธนาคารเลยรัฐก็รู้อยู่แล้วว่าคนนั้นเดือดร้อน ถ้าไม่มีในกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้ ก็จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ก็ชัดเจน

รัฐบาลจดทะเบียนคนจนไปหลายรอบแล้วต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ หากช่วยเหลือที่ละขยักไม่ถูกต้อง เวลาแจกต้องแจกให้หมด ทำเหมือนโครงการคนละครึ่ง ที่จ่ายตรงไปยังผู้รับเลย จะลดต้นทุนค่าบริการจัดการไปมาก

เวลาบริหารนโยบายเศรษฐกิจ จะเอาคน 90 เปอร์เซ็นต์ หรือคน 1 เปอร์เซ็นต์เป็นหลัก หากยึดคน 1 เปอร์เซ็นต์เป็นหลัก อาจทำให้คน 80-90 เปอร์เซ็นต์อยู่ไม่ได้ คน 1 เปอร์เซ็นต์แม้ไม่ได้มีปัญหาอะไร อย่างมากกำไรก็ลดลง แต่คนมีรายได้น้อยไม่มีจะกิน

รัฐบาลต้องยึดประชาชนส่วนใหญ่ไว้ก่อน อย่าไปเกรงใจพวกเจ้าสัวมาก เขาเอาตัวรอดได้ แต่ก็มีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจก็ต้องช่วยดูแลกฎระเบียบไม่ให้ไปขัดขวางเขา

 

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง

ผู้ก่อตั้งกลุ่มแคร์

มาตรการเยียวยาประชาชน กำลังซ้ำรอยเดิมจากการเยียวยาเมื่อครั้งโควิดระบาดรอบแรก ซึ่งยังไม่ได้ผลที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นคืน ขณะที่การเยียวยาครั้งนี้ที่แอบหวังว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นอีกก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะครั้งนี้ยังน้อยทั้งในส่วนของตัวเงินและตัวบุคคล

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องเร่งเยียวยาอย่างเช่น กลุ่มเอสเอ็มอีที่กำลังติดลบ จากการระบาดของโควิด-19 รอบแรกกลุ่มเอสเอ็มอียังพอมีเงินสำรองอยู่ แต่เมื่อมาเจอรอบสองแบบนี้ หากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยประคอง เอสเอ็มอีที่ไม่มีเงินสำรองก็อาจล้มไปหมดเลย ดังนั้นรัฐบาลต้องอัดเงินเข้าไปในระบบ

ที่ผ่านมา กลุ่มแคร์เคยเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อผ่อนปรนวงเงิน 2 ล้านล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดการชำระเงินต้นเป็นเวลา 4 ปี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ปล่อยกู้ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และรัฐบาลรับความเสี่ยงของความเสียหายจากการปล่อยกู้ดังกล่าวเกือบทั้งหมด

หากมีความเสียหายจากการปล่อยกู้ รัฐบาลสามารถออกเป็นพันธบัตรให้แบงก์ชาติซื้อที่ดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ระยะเวลาใช้คืน 100 ปี เพื่อชดใช้ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากหนี้เสียให้กับสถาบันการเงินในอนาคต

นอกจากการเยียวยาที่ต้องมากแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องง่ายและรวดเร็วด้วย ที่รัฐบาลเปิดให้ประชาชนต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิต่างๆ นั้นต้องเลิกได้แล้ว เพราะจำนวนคนที่จะเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีก็มีมาก อาจทำให้การเยียวยาไม่ครอบคลุม

รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนได้รับการเยียวยาด้วยวิธีการที่ง่าย กว้างขวางและรวดเร็ว เพื่อช่วยให้คนที่กำลังลำบากไปต่อได้

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ต้องคิดอะไรให้แตกต่างจากของเดิม ต้องใช้วิธีการเยียวยาที่ต่างจากเดิมเพื่อประคองให้ทุกภาคส่วน ให้เศรษฐกิจไปต่อได้

ส่วนของผู้ติดเชื้อ หากเรามีระบบสาธารณสุขที่รองรับจำนวนผู้ติดเชื้อได้ก็ไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์หรือปิดเมือง

เรื่องของความเชื่อมั่นก็เป็นเรื่องสำคัญ ต่อให้เราเปิดเมืองแต่รัฐพูดขู่ทุกวันทำให้คนหวาดกลัว อย่างเช่นที่ ศบค.แถลงถึงเรื่องการระบาด ยกตัวเลขของผู้ติดเชื้อในต่างประเทศมาขู่ทุกวัน สร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับคนในประเทศแบบนี้ก็ควรเลิกพูด

ศบค.ควรใช้เวลาแถลงเรื่องในประเทศ ลงในรายละเอียดว่าจังหวัดไหนที่ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ หรือจังหวัดไหนตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แบบนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า

รัฐต้องทำให้การเยียวยาง่าย อย่าไปคิดซับซ้อน หากจะจ่ายเงินเยียวยาก็จ่ายทุกคนถ้วนหน้าไปเลย ไม่ต้องมานั่งลงทะเบียน รัฐอาจตั้งเป้าให้เงินเยียวยากับคน 60 ล้านคน แม้แต่คนที่มีเงินเดือน เพราะทุกคนได้รับผลสะเทือนกันหมด ถ้าต้องมานั่งลงทะเบียนคนที่ได้รับผลกระทบก็คือคนที่ด้อยโอกาส ด้อยเทคโนโลยี

มาวันนี้รัฐอย่ามาเสียดายเงิน ทีโครงการคนละครึ่ง รัฐบาลยังให้เงินที่มีเงินเดือนได้เลยเพียงแค่มีสมาร์ตโฟน ดังนั้น รัฐต้องอัดเงินเข้าระบบเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจได้หมุนเวียนต่อไปได้อีกหลายๆ รอบ

สำคัญที่สุดคือต้องเยียวยาให้เร็วๆ และง่ายที่สุด อย่าเอาแต่พูดว่าจะทำแต่ก็ไม่เริ่มเสียที

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

หัวหน้าพรรคก้าวไกล

โควิดรอบสองรุนแรงกว่ารอบแรก การกระจายผู้ติดเชื้อก็เยอะกว่า แต่การตอบสนองของรัฐบาลรอบสองกลับแย่กว่ารอบแรก และถือว่าเยียวยาช้าเกินไป

การเยียวยาต้องมาพร้อมกับกิจกรรมฟื้นฟูเพราะมีเวลาเตรียมตัว เนื่องจากการระบาดไม่ใช่ครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สองแล้วครั้งแรกใช้บิ๊กดาต้า หรือใช้เอไอ ทำให้การคัดกรองผิดพลาดล่าช้า ครั้งนี้จึงคาดหวัง

ที่จริงไม่ใช่การเยียวยา แต่จะเป็นการชดเชยที่รัฐใช้อำนาจปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจประชาชนในพื้นที่ จากความผิดที่ไม่ได้มาจากประชาชน แต่เป็นการบริหารตะเข็บชายแดนและบ่อนพนัน

ที่สำคัญต้องเยียวยาให้ถ้วนหน้าและได้สัดส่วน อาจเถียงว่า 3,500 บาท ถ้วนหน้า 40 ล้านคน ไม่ได้มาทีละ 3 ล้านคนหรือ 9 ล้านคนเหมือนคราวแรก แต่ปัญหาคือเยียวยาถ้วนหน้าแต่ไม่ได้สัดส่วน

ควรได้ตามสัดส่วนความเข้มข้นของมาตรการในพื้นที่นั้นๆ หากนับว่า 3,500 เป็นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรได้รับ แต่โซนควบคุมเฝ้าระวังสูงสุด 5 จังหวัด น่าจะได้รับการเยียวยาเพิ่มเป็นขั้นบันได

รอบแรกรัฐบาลแบ่งธุรกิจเป็น 5 ประเภท ร้านอาหารหรือบาร์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ปิดเร็วที่สุดและเปิดช้าที่สุด แต่ไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ คราวนี้เมื่อไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แต่แบ่งโซนแทน การเยียวยาก็ควรเป็นไปตามโซน 3,500 ไล่ไปจนถึง 5,000 6,000 ตามความเข้มข้น และระยะเวลาของระบบเศรษฐกิจที่ชะงักในแต่ละพื้นที่

พื้นที่สีแดงที่ไม่ใช่สีแดงเลือดหมู ได้เยียวยาน้อยลงมา เพราะประชาชนเขตนี้ไม่ต้องเสียสิทธิพลเมืองในการทำมาหากินเท่ากับพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่ไม่ว่าจะอยู่เขตเฝ้าระวังหรือควบคุมสูงสุด แน่นอนเศรษฐกิจมหภาคมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเช่นกัน 3,500 บาท 2 เดือน น้อยไปอยู่แล้ว

เรื่องประกันสังคม มาตรา 33 รอบแรกได้ 62% ของรายได้ค่าจ้างต่อวัน ครั้งนี้เหลือแค่ 50% ได้รับร้องเรียนจากผู้ทำประกันสังคมว่ากลายเป็นตราบาปที่เข้ามาอยู่ในประกันสังคม แต่กลับได้เยียวยาน้อยกว่าคนที่อยู่นอกระบบประกันสังคม

ส่วนหนี้สินส่วนตัว หนี้บัตรเครดิต หนี้รถยนต์ สินเชื่อบ้าน ควรได้รับการระงับชั่วคราวแม้จะไม่ใช่การระงับดอกเบี้ย เท่าที่ตรวจสอบมามีเพียงธนาคารออมสินและธนาคารกรุงศรีฯที่ให้ผ่อนยาวขึ้น

เอสเอ็มอีและการท่องเที่ยว พ.ร.ก.เงินกู้ซอฟต์โลน เอสเอ็มอีได้รับการเบิกไปแค่ 20% อีก 80% ยังใช้ไม่ได้ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมและยากเกินไป โดยต้องเป็นลูกค้าเก่าของแบงก์เท่านั้น ทำให้เข้าไม่ถึงเงินกู้ก้อนนี้

เรื่องการท่องเที่ยว รัฐช่วยเหลือเรื่องดีมานด์อย่างเดียวคือโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ขณะที่บริษัทท่องเที่ยวจำนวนมากขาดสภาพคล่อง ไม่มีการช่วยเหลือที่ชัดเจน

ซึ่งช่วยได้หลายแบบทั้งแบบกองทุนที่ช่วยสึนามิ 6 จังหวัดภาคใต้ ในชื่อ Tsunami Recovery Fund ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง กองทุนกึ่งเอกชนกึ่งรัฐบาลระดมทุนเข้ามาช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

หรือใช้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ที่เหลืออยู่อีกกว่า 4 แสนล้านบาท กันงบออกมา 1 แสนล้านบาท ให้เฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่อย่างนั้นธนาคารจะไม่มีแรงจูงใจปล่อยกู้ให้การท่องเที่ยว

บางอย่างแบงก์ชาติเคยทำรอบที่แล้วแต่รอบนี้ไม่มี ทั้งที่วิกฤตรอบนี้แย่กว่าครั้งที่แล้ว และหลายมาตรการเคยทำในรัฐบาลชุดก่อนๆ เมื่อเจอวิกฤตหนัก กระทั่งเรื่องคูปองจ้างงานก็เคยทำในแถบยุโรป ทั้งหมดเป็นไอเดียที่เสนอรัฐบาล

เมื่ออำนาจมีอยู่เต็มมือก็ต้องมาคู่กับความรับผิดชอบด้วย ขอให้บริหารให้ถูกทิศถูกทาง ไม่ให้ผิดซ้ำซากก็พอ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน