เหมือนกับการย้าย นายวรานนท์ ปีติวรรณ อันส่งผลให้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

เรื่อง “อื้อฉาว” อันมาจากกระทรวงแรงงานจะจบ

เป็นการจบเพียง 2 เรื่องเท่านั้น คือ 1 นายวรานนท์ ปีติวรรณ มิได้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมการจัดหางาน และ 1 พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล มิได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

แต่ “แผนงาน” และ “โครงการ” ยังไม่จบ

ที่สำคัญก็คือ การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาพิสูจน์อัตลักษณ์แรงงานข้ามชาติก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อทำให้การคัดกรองแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะกลุ่มประมงใน 22 จังหวัด ที่ยังตกค้างอยู่ยังไม่ได้ดำเนินการจำนวนไม่ต่ำกว่า 7,000 คน

เครื่องสแกนม่านตานี่แหละคือ ประเด็น

หากไม่มีการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อย้าย นายวรานนท์ ปีติวรรณ ออกจากตำแหน่ง แสงแห่งสปอตไลต์ย่อมมิได้ฉายจับไปยังเครื่องสแกนม่านตา

นี่คือปัญหา นี่คือปมอันเป็นความขัดแย้ง

ที่ระบุว่าการลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็นเหตุผลส่วนตัว เป้าหมายเพื่อไปประกอบธุรกิจ สร้างความสงสัยเป็นอย่างมาก

ในเมื่อปฏิกิริยาของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เด่นชัด

เด่นชัดว่าไม่เพียงแต่กรณีของอธิบดีกรมการจัดหางานไม่ได้รับการปรึกษาจากหัวหน้าคสช. หากแต่ยังไม่เห็นด้วยกับคำสั่งตามมาตรา 44 ครั้งนี้

ตำแหน่งอธิบดีกรมการจัดหางานต่างหาก คือเหตุผล

แม้ในที่สุด พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เมื่อลาออกแล้วก็ปิดปากเงียบ เช่นเดียวกับ นายวรานนท์ ปีติวรรณ เมื่อได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงก็ก้มหน้ารับคำสั่งเยี่ยงข้าราชการที่ดี

แต่ที่ไม่เงียบก็คือการจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตา

มีความจำเป็นอย่างแน่นอนในการคัดกรองแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานประมงที่จำเป็นต่อภาคเศรษฐกิจ

แต่คำถามก็คือ จะดำเนินการจัดซื้ออย่างไร

ไม่ว่าอธิบดีกรมการจัดหางานคนใหม่ ไม่ว่าปลัดกระทรวงแรงงาน ไม่ว่ารักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงถูกจับตามองจากสังคม

ทั้งหมดเนื่องมาจากการลาออกของ “รัฐมนตรี”

พลันที่การจัดซื้อเครื่องสแกนม่านตาเข้ามาอยู่ใน “โฟกัส” ก็บ่งชี้อย่างเห็นเป็นรูปธรรมว่ากรณีการโยกย้ายหรือการลาออกในกระทรวงแรงงานเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ

มิได้เป็น “เรื่องส่วนตัว”

คำว่า “เรื่องส่วนตัว” เสมอเป็นเพียงการยกขึ้นมาเป็นเหตุผลเพื่อทำให้ความขัดแย้งซึ่งดำรงอยู่สงบนิ่ง ไม่กลายเป็นประเด็น ไม่กลายเป็นปัญหา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน