รายงานพิเศษ

เส้นทางสู่ศาลโลก-คดี 6 ตุลา 19

งานรำลึก 45 ปี 6 ตุลา 19 ที่เพิ่งผ่านพ้น เป็นอีกปีที่งานรำลึกถึงวีรชนถูกจับตา

เพราะมีประกาศหมุดหมายของการค้นหาความจริง เพื่อเอาผิดผู้ก่อการ ผู้บงการ ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลโลก

หากแต่การดำเนินการต้องเริ่มจากจุดไหน ใครเป็นเจ้าภาพ

มีความเห็นจากคนเดือนตุลา นักวิชาการ และฝ่ายสันติวิธี

กฤษฎางค์ นุตจรัส

ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19

กรณีสังหารหมู่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ 6 ตุลา 19 ตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ธรรมนูญกรุงโรม) ไม่มีอายุความสำหรับคดีเช่นนี้ และมีผลย้อนหลังได้ด้วย

แต่มีปัญหาข้อกฎหมายหลายประการ เช่น มีการรับรองว่าเป็นภาคีหรือไม่ มีการให้สัตยาบันหรือไม่ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาตั้งแต่ พ.ศ.2541 แต่ไม่เคยให้สัตยาบัน เราไม่รับรองอาณาเขตของศาล จึงอาจต้องเสนอผ่านช่องทางให้สหประชาชาติ หรือองค์การสิทธิมนุษยชนเป็นผู้เสนอ

ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ค่อนข้างยากแต่คิดว่ามีช่องทางที่ทำได้ เช่น กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา ก็ดำเนินคดีผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เป็นผู้เสนอเรื่องต่อศาลโดยตรง หากเขารับคดีนี้อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศจะเป็นคนหาข้อมูลและสอบพยาน

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ การทำงานของเรามีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.การแสวงหาข้อเท็จจริงของอาชญากรรม 6 ตุลา ซึ่งแสวงหามาเกือบ 20 ปีแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าใครเป็นคนทำ หรือคนบงการ ได้ข้อมูลระดับหนึ่ง เห็นได้จากการให้ปากคำของพยาน มีทั้งเอกสาร ภาพถ่าย คำสั่งทางราชการและรายงานการพิสูจน์ทางนิติเวช

2.เรื่องข้อกฎหมายที่จะทำผ่านศาลอาญาระหว่างประเทศ เราปรึกษาหารือกันประมาณ 4-5 เดือนก่อนหน้า 6 ต.ค. 64 ภาพที่เห็นยังเป็นรูปร่างแบบคร่าวๆ เพราะตามธรรมนูญกรุงโรมเสนอผ่านได้หลายทาง

สามารถเสนอได้ทั้งรัฐบาลของประเทศที่เป็นภาคีให้สัตยาบัน และยอมรับสถานภาพของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือเสนอโดยองค์การระหว่างประเทศ คณะมนตรีความมั่นคงฯ หรือผู้เสียหาย ซึ่งเรายังไม่มีข้อสรุป

6 ต.ค. 64 เป็นหมุดหมายที่นับหนึ่งในการทำงาน การทำงานประกอบด้วยนักกฎหมายและผู้ทำงานเรื่อง 6 ตุลา ประมาณ 10 คน เราทำงานโดยอาสาสมัคร ไม่รับเงินบริจาค และก่อน 6 ต.ค. 65 ต้องสัมฤทธิผลระดับหนึ่ง รายงานให้ประชาชนทราบให้ได้

ข้อกังวลเรื่องการหาหลักฐานพยานนั้น ความจริงโลกตัดสินแล้วว่าเป็นอาชญากรรม เพราะมีหลักฐานทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว มีรายงาน มีคนตายที่แน่นอน มีสำนวนของอัยการ มีการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต

ยอมรับว่าไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คิดว่าสำนวนที่อยู่ในมือเราเพียงพอจะอธิบายว่าอาชญากรรมนี้เป็นไปตามธรรมนูญกรุงโรมแน่นอน เพราะเป็นการฆ่าหมู่ทางการเมือง

ตอนนี้ได้รวบรวมพยานหลักฐานไว้ระดับหนึ่งแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการริเริ่มนำคดีไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ นับแต่การผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบัน หรือรับรองอาณาเขตของศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ประชาชนให้ข้อมูลและให้ผู้เสียหายมารวมตัวกันเพื่อนำไปสู่การร้องเรียนไปตามลำดับชั้น

เพราะเงื่อนไขหนึ่งของไทยคือ การดำเนินคดีดำเนินการในประเทศไม่ได้ เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมที่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออกให้ผู้ฆ่าไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนเจ้าภาพหรือโจทก์ยื่นฟ้อง น่าจะเริ่มต้นที่ผู้เสียหาย เช่น นายจารุพงษ์ ทองสินธุ์ นายวิชิตชัย อมรกุล หากญาติพี่น้องเขายังมีชีวิตอยู่ ซึ่งน่าจะมีแน่นอน แต่คดีเช่นนี้สามารถร้องเรียนได้โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนหรือประชาชนทั่วไป หมุดหมายที่หนึ่งเพิ่งเริ่มต้นคงใช้เวลาดำเนินการพอสมควรก่อนจะยื่นฟ้อง

ผลลัพธ์ที่คาดหวังไม่ใช่เอาตัวคนผิดมาลงโทษอย่างเดียว เพราะคนผิดเสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว ทั้งผู้ก่อการและบงการ สิ่งสำคัญคือประวัติศาสตร์จะได้จารึกไว้ว่ามีการพิจารณาเรื่องนี้แล้ว คนเหล่านี้ถูกนำตัวขึ้นศาล และเพื่อฟื้นฟูเกียรติยศศักดิ์ศรีของผู้เสียชีวิต ที่เสียชีวิตอย่างทรมาน ผู้หญิงถูกทรมานทางเพศ การทำร้ายศพ

รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง เช่น ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเกียรติภูมิถูกเหยียบย่ำทำลายในเหตุการณ์ 6 ตุลา การลงโทษอาจไม่ใช่การจำคุกอย่างเดียว แต่อาจเป็นการประกาศถึงความชั่วร้าย การถอดถอนเกียรติยศ ทรัพย์สิน ทั้งยังจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก

ถือเป็นทางหนึ่งทางเดียวเล็กๆ เพราะต้นตอของปัญหาไม่ได้เกิดจากผู้บงการอย่างเดียว แต่เป็นที่ระบบการเมือง ตราบใดที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย โอกาสจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ก็ยังมีอีก เช่น วันนี้ความรุนแรงที่เกิดกับเยาวชน ทั้งการขังคุกโดยไม่ให้ประกันตัว การฉีดน้ำแรงดันสูง การใช้แก๊ส กระสุนยาง

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์

แห่ง ม.เกษตรศาสตร์

ในแง่ของกฎกติกาดูแล้วไม่มีปัญหา เพราะว่าหลายกรณีในต่างประเทศมีการนำเรื่องลักษณะแบบนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลก ดังนั้น การจะนำเหตุการณ์ 6 ตุลา ยื่นต่อศาลโลกจึงสามารถทำได้

ส่วนรูปแบบการฟ้องต่อศาลโลกต้องทำให้เห็นว่าลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีลักษณะของความรุนแรงที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชน มีเจตนากระทำการให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นการสังหารหมู่

กรณีคล้ายๆ กันในต่างประเทศหลายเหตุการณ์ก็จะมีจุดร่วมกัน คือเป็นเรื่องของการจงใจกระทำเพื่อให้เกิดการสูญเสียชีวิต หรือเราเรียกว่า “การสังหารหมู่” ซึ่งผู้กระทำการคือรัฐ และผู้ได้รับผลกระทบคือประชาชนที่อยู่ในรัฐ

การริเริ่มแนวคิดจะยื่นฟ้องต่อศาลโลก แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 45 ปี หากยึดเรื่องหลักการคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน อย่างน้อยที่สุดเรื่องนี้ถือเป็นการชำระประวัติศาสตร์ เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยมีหลายเหตุการณ์ไม่ได้ถูกบันทึกในเอกสารอย่างเป็นทางการของรัฐ ทั้งที่เป็นการกระทำที่เกิดจากรัฐ

นอกจากนี้ ยังมีการนำไปบิดเบือน เท่ากับเป็นการผลิตซ้ำในแง่มุมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากมุมมองของรัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เมื่อมีผู้สูญเสียจึงควรต้องทำความจริงให้กระจ่างให้ได้ เป็นเรื่องที่สังคมทั้งภาครัฐและภาคส่วนอื่นๆ ต้องให้ความสำคัญ

ส่วนเรื่องเอกสารหลักฐานนั้น ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปี 19 เทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลช่วงเวลานั้นก้าวหน้าพอสมควร เรามีภาพถ่าย มีผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์นั้น ซึ่งหลายคนยังดำรงชีวิตในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐที่ตัดสินใจในการปฏิบัติการในช่วงเวลานั้น หลายคนก็ยังมีชีวิตอยู่ หรือในส่วนของทายาทผู้สูญเสียที่อาจมีเอกสารหลักฐานอื่นๆ สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปเริ่มกระบวนการในการชำระประวัติศาสตร์ หรือค้นหาความจริงของเหตุการณ์นี้ได้

เรื่องพยานหลักฐานจึงไม่น่าเป็นห่วง หากเราเปรียบเทียบการทำงานของนักโบราณคดี เชื่อว่าทำงานยากลำบากกว่านี้มาก ผู้เชี่ยวชาญมีวิธีการค้นหาเรื่องราวและสามารถนำมาพิสูจน์ได้ในทางวิชาการ หรือนักประวัติศาสตร์ก็จะมีวิธีการของเขา

อีกทั้งเอกสารหลักฐานก็ไม่ได้ปรากฏอยู่แต่ในประเทศไทย แต่ยังมีจากแหล่งอื่นอีกทั่วโลก ส่วนวิธีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้วันนี้ก็ก้าวหน้าขึ้นมาอีก เรามีวิธีใหม่ๆที่สามารถทำความจริงเรื่องนี้ให้ปรากฏ จนนำไปฟ้องต่อศาลโลกได้

ขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ศาลโลกจะรับฟ้องหรือไม่รับฟ้อง วันนี้นอกจากเทคโนโลยีและวิธีการทางวิชาการ ต้องยอมรับว่ากระแสของคนรุ่นใหม่ และนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ ก็ตื่นตัวเรื่องนี้อย่างมาก ปัจจัยทุกอย่างจึงถือว่าเอื้อทั้งหมด

ส่วนผู้ริเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ นอกจากผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จะเป็นผู้ริเริ่ม เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อความสง่างามของคนไทยทั้งประเทศ รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะมีบทบาทเข้ามาเป็นองค์กรหลักในการริเริ่มเรื่องนี้ รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้

หากมีการริเริ่มฟ้องศาลโลกจากเหตุการณ์ 6 ตุลา จะทำให้เหตุการณ์ความสูญเสียทางการเมืองที่เกิดขึ้นระยะหลัง เช่น กรณีคนเสื้อแดงปี 53 หรือกรณีการชุมนุมล่าสุด ที่เทคโนโลยีการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ยิ่งก้าวหน้า

หากเรื่องเหล่านี้ถูกนำมาทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก็สามารถนำไปสู่การที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่ง จะทำให้ประเทศไทยจะมีความสง่างามในสังคมโลกเพิ่มขึ้นอีกมาก

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

ในมุมมองส่วนตัวการฟ้องศาลโลกเพื่อเอาผิดคนฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลา คนเสนอฟ้องยืนยันว่าการสังหารหมู่ประชาชนไม่มีอายุความ แต่การรวบรวมพยานหลักฐานมีแค่ไหน ทำให้การฟ้องครั้งนี้น่าเชื่อถือแค่ไหน เวลาผ่านไปนานการหาหลักฐานก็จะยากขึ้น

ปัญหาที่ลำบากในการดำเนินการ คือ ต้องมีจำเลยเป็นตัวเป็นตนก่อน หากทำเช่นนี้ได้บุคคลคนนั้นก็ต้องอยู่ในกระบวนการสืบสวนของอัยการระหว่างประเทศ ดังนั้นเริ่มต้นขั้นแรกเมื่อมีจำเลยแล้วจะทำอย่างไรให้จำเลยไปอยู่ในการควบคุมตัวของอัยการระหว่างประเทศ ถ้าไม่มีจำเลยก็ลำบาก

ฝ่ายผู้ร้องต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ ทำให้อัยการรับคดีไว้พิจารณา เมื่อรับแล้วเขาก็เดินหน้าต่อเหมือนคดีอาญาทั่วไป เช่นเดียวกับเวลาผู้ถูกกระทำไปแจ้งความที่ สน. ตำรวจก็ต้องรวบรวมหลักฐาน เวลาฟ้องศาลตามหลักกฎหมายอัยการต้องดำเนินการ ดูว่าหลักฐานพอหรือต้องสืบสวนเพิ่มเติมหรือไม่

ส่วนเจ้าภาพที่จะดำเนินการฟ้องคดีนี้ เริ่มต้นต้องเป็นผู้เสียหาย ใครก็แล้วแต่ที่เป็นผู้เสียหายอาจต้องเป็นโจทก์ร่วม แต่สำคัญคือผู้เสียหายกรณีนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หากมีก็ต้องไปอธิบายต่ออัยการว่าเสียหายอย่างไร ใครเป็นผู้กระทำ ใครเป็นผู้สั่งการ

ศาลอาญาระหว่างประเทศก็ทำงานคล้ายกับศาลอาญาทั่วๆไป เพียงแต่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับคดีสำคัญไว้พิจารณา 4 ฐาน คือ 1.คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 2.อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ 3.อาชญากรรมสงคราม และ 4.อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

ดังนั้น กรณีนี้ผู้ร้องต้องมีหลักฐานเบื้องต้น เมื่ออัยการเห็นว่ามีพยานหลักฐานก็จะนำตัวผู้ถูกฟ้องไปดำเนินคดีได้ แต่การส่งฟ้องหรือไม่ยังไม่รู้ว่าจะไปถึงขั้นตอนไหน

หากไม่มีหลักฐานเพียงพอศาลก็ไม่รับทำคดี เพราะจำเลยอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เนื่องจากเรื่องเกิดมา 45 ปีแล้ว ศาลระหว่างประเทศก็ดำเนินการไม่ได้ แต่ถ้าได้ตัวจำเลยและหลักฐานเกี่ยวข้องก็อาจฟ้องหรือลงโทษผู้ถูกฟ้องได้

ศาลอาญาระหว่างประเทศเคยยกฟ้องมาแล้วในคดีของอดีตประธานาธิบดีโลรองต์ บักโบ ของไอวอรีโคสต์ ว่าไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ดังนั้นจึงต้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่หาได้

ขณะที่การดำเนินคดีในเมืองไทยคงทำไม่ได้ เพราะมีการนิรโทษกรรมให้คนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว คนที่เสนอเรื่องนี้ถึงมีแนวคิดไปดำเนินคดีในต่างประเทศ เพราะไม่อยากให้ผู้กระทำผิดลอยนวล ไม่อยากให้เกิดแบบนี้ในอนาคตอีก ผู้มีอำนาจจะได้ไม่คิดว่าทำอะไรก็ได้ จะปิดล้อมหรือสังหารหมู่ได้อีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน