คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

คำสั่งห้าม พระภิกษุสามเณร

คําสั่งเถรสมาคม ที่ 1/2564 เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรเรียนวิชา หรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ.2564 สาระสำคัญคือ

ห้ามสอบแข่งขัน สอบคัดเลือกเพื่อรับทุนการศึกษาจากหน่วยงานรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีทุนของพระภิกษุ สามเณรโดยเฉพาะ หรือจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศ ในสาขาพระพุทธศาสนา ปรัชญา ภาษาบาลีสันสกฤต และสาขาอื่นที่เป็นประโยชน์ ต่อการเผยแผ่

ห้ามเรียนวิชาเหมือนประชาชนทั่วไป เว้นแต่เข้าศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีการศึกษา หรือวิชาอื่นที่มหาเถรสมาคมกำหนดโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีก็ได้ เพื่อประโยชน์แก่การเผยแผ่ หรือเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง หรือสถานศึกษาอื่นใดที่จัดการศึกษาโดยคณะสงฆ์

หากฝ่าฝืนจะมีโทษถึงขั้นขับออกจากวัดหรือปลดจากพระสังฆาธิการ

คําสั่งดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนักวิชาการ ทั้งทางด้านศาสนาและด้านอื่นๆ ตลอดจนนักกฎหมายว่าเป็นการปิดกั้น จำกัดเสรีภาพ และละเมิดสิทธิมนุษยชนทางด้านการศึกษาของพระภิกษุและสามเณรหรือไม่

การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ที่เรียกว่าพระปริยัติธรรม ประกอบด้วยแผนกธรรม ตั้งแต่ชั้นตรี โท เอก และแผนกบาลี ตั้งแต่ประโยค 1-2 จนถึงเปรียญธรรม 9 ประโยค ยึดเป็นขนบอย่างเคร่งครัด

ต่อมามีการจัดการศึกษารูปแบบโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย รูปแบบการเรียนมีทั้งวิชาสามัญ พระธรรมวินัย และบาลีเข้าด้วยกัน

ระดับอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แต่กว่าจะเป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์และรัฐบาลได้ ก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก

ต้องยอมรับว่าขณะนี้ การจัดการศึกษาของรัฐขยายภาคบังคับถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว ซึ่งกระทบต่อการสร้างศาสนทายาทไม่น้อย จากเดิมที่กลุ่มขาดโอกาสมักพึ่งพาวัดเพื่อเล่าเรียน แต่ปัจจุบันเริ่มน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

ที่จะส่งผลเด่นชัดที่สุด โอกาสที่จะมีสามเณรเปรียญ 9 ประโยคลดลง เพราะกว่าสร้างได้จะต้องใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 8 ปี จากกรณีผู้บรรพชาตั้งแต่อายุ 11-12 ปี

การที่คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ออกคำสั่งที่ขาดความรอบคอบ มองแค่มิติเดียว ปิดกั้นศิลปวิทยาการ จะทำให้สถาบันสงฆ์ก้าวไปไม่ทันโลก

นอกจากนี้ จะต้องเตรียมปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน