คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

เส้นแบ่ง การเมือง 17 พฤศจิกายน คือ จุดตัด อดีต กับ “อนาคต”

ต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” แต่ละท่าทีแต่ละความเห็นมีความสำคัญ

ไม่ว่าจะเป็นความเห็นจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่าจะเป็นความเห็นจาก นายเสรี สุวรรณภานนท์ ล้วนต้องให้ความสนใจและจดจำ

พวกเขาล้วนต้องการดำรง “ระบอบประยุทธ์” เอาไว้

เพราะว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน เคยเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป เพราะว่าตำแหน่งส.ว.ที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ได้มาก็ด้วยความเมตตาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การส่งเสียงในทางการเมืองจึงเด่นชัด ตรงไปตรงมา

มิได้แปลกหากว่าพรรคพลังประชารัฐจะยืนขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน”

เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันมาตั้งแต่ยุค “บูรพาพยัคฆ์”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือแคนดิเดต “นายกรัฐมนตรี”

แต่คำถามก็คือ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าสถานะแห่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพรรคพลังประชารัฐจะยังหนักแน่นและมั่นคง จริงหรือ

มติพรรคพลังประชารัฐในวันที่ 17 พฤศจิกายน ย่อมเป็น “คำตอบ”

ที่สมควรให้ความสนใจอย่างยิ่งยวดย่อมเป็นท่าทีและบทสรุปของพรรคร่วมรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคชาติไทยพัฒนา หรือแม้กระทั่งพรรคชาติพัฒนา

ยังเห็นชอบต่อ “ระบอบประยุทธ์” อยู่อีกหรือไม่

ยังแสดงการยอมรับและประเมินว่า “ระบอบประยุทธ์” ยังเป็นความจำเป็นและต้องดำรงคงอยู่ไปอีกตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่

การตัดสินใจในวันที่ 17 พฤศจิกายน จึงทรงความหมาย

สภาพที่ “ระบอบประยุทธ์” กำลังเผชิญอยู่ใน ขณะนี้มีความหมายต่อ “อนาคต” ของประเทศ

อย่ามองเห็นเพียงภาพของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อย่ามองเห็นเพียงภาพของ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ที่สำคัญยังมีภาพของ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว รวมอยู่ด้วย

นั่นคือภาพของคนรุ่นใหม่ ภาพของอนาคตแห่งบ้านเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน