บก.ตอบจดหมาย

สตม.ชี้แจงรายงานแอมเนสตี้

เรื่อง การนำเสนอหัวข้อข่าว แอมเนสตี้ : สิทธิมนุษยชนในไทย

เรียน บรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์ข่าวสด

อ้างถึง หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561

ตามอ้างถึงหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับเมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ได้มีการนำเสนอกรณีแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ต้องกักที่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือแสวงหาที่ลี้ภัย ยังคงตกค้างอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าว กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นั้น

กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ขอเรียนว่า สถานกักตัวคนต่างด้าวมีภารกิจและหน้าที่ในการรับตัวบุคคลต่างด้าวที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีเสร็จสิ้นแล้ว ไว้ในสถานกักตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 โดยปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมายภายในของไทย และคำนึงถึงพันธสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการในเรื่องสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานในการกักตัวคนต่างด้าว เพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ดังเช่นนานาอารยประเทศพึงปฏิบัติ

สำหรับในกรณีผู้ต้องกักที่ไม่ประสงค์ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะได้สถานะผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ซึ่งยังคงตกค้างอยู่ภายในสถานกักตัวคนต่างด้าว เนื่องจากขั้นตอนและการดำเนินการเพื่อเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ขึ้นอยู่กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner For Refugees : UNHCR) และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration-IOM) หรือประเทศที่สาม แต่อย่างไรก็ตาม กองบังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ถือปฏิบัติต่อผู้ต้องกักตามหลักของมนุษยธรรม โดยอนุญาตให้ผู้แทนจากสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างๆ รวมถึงองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนเข้าเยี่ยมและดูแล ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เท่าที่พึงกระทำได้ กอปรกับมี นโยบายให้ประกันตัวในระหว่างรอประเทศที่สามตอบรับหรือระหว่างรอได้รับสถานะผู้ลี้ภัย ตามสมควรแก่กรณี

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

พลตำรวจตรี ชูฉัตร ธารีฉัตร

ผู้บังคับการ กองบังคับการสืบสวนสอบสวน

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทุบรถและทุบลิฟต์

เรียน บ.ก.

ทั้งกรณีคุณป้าใช้ขวานทุบรถยนต์ และกรณีทุบลิฟต์ BTS อโศก ถ้าทั้งสองเหตุการณ์ไม่ใช้ความรุนแรงจนสื่อนำเสนอ คนทั่วๆ ไปคงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น กรณีทุบลิฟต์ทราบว่า ผู้ทุบก็เรียกร้องการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการมาตลอด แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงต้องเรียกร้องด้วยวิธีรุนแรง เมื่อสร้างหรือมีสาธารณูปโภคประเภทขนส่ง ควรคำนึงว่าสร้างแล้วสามารถใช้ได้จริง ไม่ใช่สร้างเพราะมีเงื่อนไขกำหนดหรือเพราะมีกฎหมายบังคับ ผู้พิการบางคนเดินทางไปมาด้วยตัวเองคนเดียวได้ เพียงขอให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นองค์ประกอบในการเดินทางเอื้อต่อ ผู้พิการบ้าง ตอนนี้ระบบขนส่งในกทม.เริ่มก่อสร้างหลายเส้นทาง ทั้งสายสีเขียว สายสีชมพูและสายสีเหลือง ทุ่มทุนสร้างเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่คาดว่าจะใช้บริการถึง 2 ล้านคนต่อวัน อย่าลืมความสะดวกให้กับผู้พิการไม่ว่าจะเป็นทั้งสายตา หรือผู้ที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ด้วย เขาไม่ต้องการโดยสารฟรี แต่เขาต้องการความเสมอภาคในการใช้บริการมากกว่าซึ่งอื่นใด

สุดท้ายที่จะขอคือห้องสุขา ทุกวันนี้เวลาปวดหนักต้องวิ่งหาสุขาอยู่หนใด หากสร้างห้องสุขาเพื่อบริการผู้โดยสารเป็นภาระต้นทุนก็ควรจะเก็บค่าบริการ นาทีนั้นครั้งละ 10 บาทก็ยอมจ่าย

นับถือ

สุนทร

ตอบ คุณสุนทร

เห็นด้วยว่าทั้งสองเหตุการณ์ต้องใช้ความรุนแรงจึงมีผล แต่ก็ไม่ควรต้องทุบกันไปเสียทุกเรื่อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน