วิเคราะห์การเมือง

 

ประกาศและคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน เป็นคำสั่งที่มาพร้อมกับ “รัฐประหาร” ทุกครั้งในสังคมการเมืองของประเทศไทย

เด่นชัดก็คือ รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2500

เด่นชัดมากยิ่งไปกว่านั้นก็คือ รัฐประหาร “ซ้ำ” อีกคำรบ 1 ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนตุลาคม 2501

เป้าหมายก็คือ ห้าม “การเคลื่อนไหว”

เหมือนกับคณะรัฐประหารต้องการจำกัดสิทธิ์และลิดรอนต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง แต่ผลสะเทือนกว้างไกล ครอบคลุมไปถึงประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เป็นคำสั่งและประกาศอันสะท้อนลักษณะ “เผด็จการ” อย่างแน่นอน

นั่นก็คือ เป็นคำสั่งให้ยกมือขึ้น นั่นก็คือ คำสั่งให้ยุติบทบาทและการเคลื่อนไหวในทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง ปล่อยให้คณะรัฐประหารดำเนินการทุกอย่างไปตามความต้องการ

คำถามก็คือ แล้ว “สำเร็จ” หรือไม่

 

หากประเมินจากสภาพและความสำเร็จจากประกาศและคำสั่งนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เหมือนกับจะมากด้วยพลานุภาพ

ไม่มีการประชุมพรรคการเมือง กิจกรรมทุกอย่างยุติ

กระนั้น ความรับรู้ที่สัมผัสได้อย่างต่อเนื่องก็คือ สามารถปิดปาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้หรือไม่ สามารถปิดปาก นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ได้หรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่ได้

ยิ่งกว่านั้น เมื่อประสบเข้ากับสถานการณ์ใหญ่ๆ อยู่ในความสนใจอย่างเช่นการร่างรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองก็มิได้อยู่นิ่งเฉย ตรงกันข้าม แกนนำของพรรคได้ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง บางพรรคถึงกับออกมาเป็น “แถลงการณ์”

สะท้อนว่า พรรคการเมืองไม่ได้หยุดนิ่ง นักการเมืองไม่ได้อมสาก

 

ในอีกด้านจึงเท่ากับยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่า มาตรการของประกาศและคำสั่งเช่นนี้ทำให้พรรคการเมืองและนักการเมืองจำเป็นต้องดิ้นรนและหาทาง

เมื่อทำ “บนดิน” ไม่ได้ก็จำเป็นต้องเคลื่อน “ใต้ดิน”

กลไก “เผด็จการ” นั่นเองทำให้กรรมวิธีในการเคลื่อนไหว กระบวนการในการต่อสู้เพื่อนำเสนอความคิด แตกแขนง แยกสาขาออกไป

ยิ่งในยุคแห่ง “โซเชี่ยล มีเดีย” การติดต่อสัมพันธ์กันและกันยิ่งคึกคัก

ไม่เพียงแต่จะเลือกใช้ทวิตเตอร์ ไม่เพียงแต่จะเลือกใช้เฟซบุ๊ก หากยังมีการติดต่อผ่านไลน์ปรึกษาหารือและหนทางในการเคลื่อนไหว

แบบที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้กับ “แฟนเพจ” กว่า 5 ล้านของตน

 

จึงอาจกล่าวได้ว่า คำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนจึงแทบไม่มีความหมายอะไรในทางเป็นจริง

ตรงกันข้าม มาตรการเช่นนี้กลับไปกระตุ้นเร้า “ต่อม” แห่งการคิดประดิษฐ์ค้นกระบวนการใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน