“รุก กลางกระดาน”

เป็นกระแสกระหึ่มไปทั่ว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับการเรียกร้องให้ปล่อยตัวและยุติการดำเนินคดีกับ 15 แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

ที่เคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งหน้าไปทำเนียบรัฐบาล เพื่ออ่านแถลงการณ์เรียกร้องคสช. โดยมีหลักความสำคัญคือ ให้จัดการเลือกตั้งภายใน พ.ย.2561 ตามที่คสช.เคยให้คำมั่นสัญญาไว้

ยุติความพยายามสืบทอดอำนาจ และปลดอาวุธคสช. ให้ยกเลิกประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงทำเนียบ ถูกกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระดมมารักษาความปลอดภัยถึง 15 กองร้อยล้อมจับ พร้อมควบคุมตัวไปสอบสวน

แม้องค์กรระดับโลกอย่างองค์การสห ประชาชาติ ฮิวแมนไรต์วอตช์ แอมเนสตี้ หรือกระทั่งองค์การนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ จะเรียกร้องให้ปล่อยตัวและยุติดำเนินคดี

แต่ก็ไร้เสียงตอบรับจากรัฐบาล และคสช.

ขณะที่ระดับเจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินคดีใน 5 ข้อหาหนัก ประกอบด้วยฝ่าฝืนคำสั่งคสช. 3/2558 ฐานยุยงปลุกปั่น ตามป.อาญา ม.116 ฐานมั่วสุมเกิน 10 คน กระทำการให้เกิดความ วุ่นวายในบ้านเมือง ม.215

ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานตามป.อาญา ม.216 พ.ร.บ.จราจร และพ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ

ทำให้กลายเป็นคำถามว่า การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง หรือการกระทำตามสัญญาของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. เหตุใดจึงกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงได้ขนาดนี้

เพราะหากจำได้พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในสถานที่สาธารณะทั้งในและนอกประเทศหลายต่อหลายครั้ง ถึงสัญญาประชาคมในเรื่องการจัดการเลือกตั้ง

ตั้งแต่ปี 2558 มาจนถึง พ.ย.2561 และล่าสุดขยายไปจนถึง ก.พ.2562

เลื่อนไปเรื่อยๆ จนวันนี้ครบ 4 ปี ที่คสช.บริหารประเทศ นานกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง ชุดไหนๆ เสียอีก

จึงไม่แปลกที่คนเฝ้ารอการ “ทำตามสัญญา” จะไปทวงถาม

แต่แทนที่จะให้คำตอบอย่างอารยะ กลับดำเนินคดีอย่างรุนแรง จนสังคมคลางแคลงใจกับการใช้กฎหมายจัดการกับผู้เห็นต่าง

น่าเป็นห่วงว่าความแคลงใจอาจจะเพิ่มมากขึ้นๆ จนวันหนึ่งอาจจะยากต่อการควบคุม รับมือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน